Rocket Lab ส่งดาวเทียม CAPSTONE ขึ้นสู่อวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์
ดาวเทียมถูกพัฒนาโดยบริษัท Advanced Space มูลค่าในการพัฒนาประมาณ 13.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 482 ล้านบาท
วันที่ 28 มิถุนายน เวลาประมาณ 21.55 น. ตามเวลาในประเทศนิวซีแลนด์ บริษัท Rocket Lab ประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียม CAPSTONE ขึ้นสู่อวกาศโดยใช้จรวดอิเล็กตรอน (Electron) จากฐานปล่อยจรวด LC-1B บริเวณแหลมมาเฮีย (Mahia) ประเทศนิวซีแลนด์ นับเป็นก้าวแรกของโครงการ Artemis
ดาวเทียม CAPSTONE หรือ Cislunar Autonomous Positioning System Technology Operations and Navigation Experiment ดาวเทียมมีขนาดเล็กประเภท Cubesat น้ำหนักไม่เกิน 25 กิโลกรัม ขนาดประมาณเตาไมโครเวฟที่ใช้งานในครัว ดาวเทียมติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ กล้องบันทึกภาพและเสาอากาศเพื่อการสื่อสารส่งข้อมูลกลับมายังโลก
ดาวเทียมถูกพัฒนาโดยบริษัท Advanced Space มูลค่าในการพัฒนาประมาณ 13.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 482 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีบริษัทเอกชนด้านอวกาศอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกหลายแห่ง เช่น Terran Orbital Corporation และ Stellar Exploration สำหรับสัญญาที่นาซาทำกับบริษัท Rocket Lab ในการส่งดาวเทียมดวงนี้คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 9.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 350 ล้านบาท
ภารกิจสำคัญของดาวเทียม CAPSTONE คือ การเดินทางไปยังตำแหน่งวงโคจร Near-Rectilinear Halo Orbit ของดวงจันทร์เพื่อบุกเบิกสำรวจเส้นทางให้กับสถานีอวกาศเกตเวย์ (Lunar Gateway) ที่นาซาวางแผนก่อสร้างขึ้นเพื่อโคจรรอบดวงจันทร์ และอาจรวมไปถึงยานอวกาศ Orion และยานอวกาศลำอื่น ๆ ในโครงการ Artemeis โครงการส่งมนุษย์กลับไปดวงจันทร์ของนาซา
หลังจากนี้ดาวเทียม CAPSTONE จะใช้เวลาโคจรรอบโลกประมาณ 5 วัน ก่อนติดเครื่องยนต์ครั้งสุดท้ายเพิ่มความเร็วเป็น 39,500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มุ่งหน้าสู่ดวงจันทร์ โดยใช้ระยะทางประมาณ 1.3 ล้านกิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะทางที่มากกว่าระยะห่างจากโลกและดวงจันทร์ประมาณ 3 เท่า อย่างไรก็ตามวิธีการเดินทางดังกล่าวได้รับการคำนวณอย่างละเอียดเพื่อให้ดาวเทียมสามารถเข้าสู่ตำแหน่งวงโคจร Near-Rectilinear Halo Orbit ของดวงจันทร์อย่างถูกต้องในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2022
ที่มาของข้อมูล www.rocketlabusa.com, space.com
ที่มาของรูปภาพ twitter.com/rocketlab
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67