ทดสอบรถถังหุ่นยนต์รบ Type-X ติดตั้งปืนใหญ่ 50 มม. ควบคุมด้วยปัญญาประดิษฐ์
ภารกิจหลักของรถถังหุ่นยนต์รุ่นนี้ คือ การสนับสุนการต่อสู้ให้กับรถถังหลักขนาดใหญ่ (Main Battle Tanks) และการยิงสนับสนุนทหารราบ (Infantry Fighting Vehicles)
ปัจจุบันเทคโนโลยีด้านการทหารถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็ว โดยมีการทำเทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้ามาใช้งานเพิ่มมากขึ้น ล่าสุดบริษัทมิลเรม โรโบติก (Milrem Robotics) ร่วมกับบริษัทคอนสเบิร์ก (Kongsberg Defence & Aerospace) ทำการทดสอบรถถังหุ่นยนต์รบ Type-X หรือ Robotic Combat Vehicle (RCV) ควบคุมด้วยปัญญาประดิษฐ์หรือสลับเป็นการควบคุมโดยมนุษย์ขึ้นอยู่กับรูปแบบการปฏิบัติภารกิจ
รถถังหุ่นยนต์รบ Type-X ได้รับการออกแบบด้วยเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ระบบขับเคลื่อนแบบไฮบริดพลังงานเชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลผสมพลังงานไฟฟ้า รองรับการปฏิบัติภารกิจได้หลายรูปแบบ สำหรับภารกิจหลักของรถถังหุ่นยนต์รุ่นนี้ คือ การสนับสนุนการต่อสู้ให้กับรถถังหลักขนาดใหญ่ (Main Battle Tanks) และการยิงสนับสนุนทหารราบ (Infantry Fighting Vehicles) ด้วยขีดความสามารถของปืนใหญ่และไม่จำเป็นต้องใช้พลทหารประจำด้านในรถถังจึงลดการสูญเสียกำลังพลในสงครามลงได้
โครงสร้างของรถถังหุ่นยนต์มีขนาดเล็กกว่ารถถังหลักที่ประจำการในกองทัพต่าง ๆ เล็กน้อย โดยมีความยาวของรถถัง 6 เมตร ความกว้าง 2.9 - 2.2 เมตร น้ำหนักตัวรถ 12 ตัน น้ำหนักบรรทุกอาวุธ 4.1 ตัน ขับเคลื่อนด้วยล้อสายพานทำความเร็วบนถนนสูงสุดได้ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำความเร็วสูงสุดบนสภาพภูมิประเทศทั่วไป 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ติดตั้งเกราะกันกระสุนปืนใหญ่และระบบป้องกันทุ่นระเบิด
นอกจากติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 25-50 มม. ขึ้นอยู่กับภารกิจ ด้านบนของรถถังหุ่นยนต์รบ Type-X ยังสามารถปรับเปลี่ยนเป็นเครื่องยิงจรวดหลายลำกล้องแบบ Multi Canister Launcher ยิงจรวดได้สองรูปแบบ คือ Hero-120 จรวดต่อต้านรถถังและ Hero-400EC โดรนบินยิงทำลายเป้าหมายระยะไกล สำหรับระบบการควบคุมรถถังปืนใหญ่สามารถควบคุมได้จากระยะห่าง 40 กิโลเมตร ในพื้นที่ปลอดภัยจากแนวหน้าของสมรภูมิ
บริษัทมิลเรม โรโบติก (Milrem Robotics) แห่งนี้ตั้งอยู่ในประเทศเอสโตเนียติดชายแดนประเทศรัสเซีย ผลงานของบริษัทนอกจากพัฒนารถถังหุ่นยนต์รบ Type-X ยังมีผลงานเทคโนโลยีอาวุธรูปแบบอื่น เช่น THeMIS รถถังขนส่งทรัพยากรที่ใช้ในสงคราม โดรนต่อสู้ในสงคราม หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่น โดรนดับไฟป่า รถสายพานดับไฟป่า ซึ่งสามารถปฏิบัติภารกิจทดแทนมนุษย์
ที่มาของข้อมูล newatlas.com
ที่มาของรูปภาพ milremrobotics.com
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67