เปิดตัวต้นแบบมอเตอร์ไซค์บิน P2 Speeder รองรับการใช้งานหลายรูปแบบ
ต้นแบบมอเตอร์ไซค์บินพี 2 สปีดเดอร์ (P2 Speeder) ได้รับการออกแบบให้สามารถใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ ระบบขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ไอพ่น 8 ตัว
ปัจจุบันการพัฒนาอากาศยานบินรูปแบบต่าง ๆ ถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ล่าสุดบริษัทเมย์แมน แอโรสเปซ (Mayman Aerospace) ได้ทำการเปิดตัวต้นแบบมอเตอร์ไซค์บินพี 2 สปีดเดอร์ (P2 Speeder) ภายในงาน Draper Venture Network CEO Summit งานสัมมนาบริษัทด้านนวัตกรรมใหม่ ๆ ในแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัทแห่งนี้เป็นบริษัทในเครือของ บริษัทเจ็ตแพ็ก เอวิเอชัน (Jetpack Aviation) ผู้นำด้านเทคโนโลยีชุดคนบินที่มีผลงานชุดคนบินไปแสดงยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
ต้นแบบมอเตอร์ไซค์บินพี 2 สปีดเดอร์ (P2 Speeder) ได้รับการออกแบบให้สามารถใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ ระบบขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ไอพ่น 8 ตัว ใช้พลังงานเชื้อเพลิงอากาศยานที่ยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuels หรือ SAF) ซึ่งเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าน้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิล มีขีดความสามารถในการบินขึ้นลงในแนวดิ่ง (VTOL) ระบบการควบคุมรองรับการขับโดยนักบินที่เป็นมนุษย์และการบินแบบอัตโนมัติ
บริษัทต้องการให้ต้นแบบมอเตอร์ไซค์บินพี 2 สปีดเดอร์ (P2 Speeder) เป็นได้มากกว่าอากาศยานบินส่วนบุคคลแต่สามารถรองรับการทำภารกิจด้านการกู้ภัย ขนส่งสินค้าทางอากาศไปยังเรือบรรทุกสินค้ากลางทะเลและขนส่งพัสดุในเขตเมือง ดับเพลิง รวมไปถึงภารกิจด้านการทหารที่ต้องการความรวดเร็วในการขนส่งอาวุธเข้าสู่พื้นที่เป้าหมาย
เป้าหมายการพัฒนาต้นแบบมอเตอร์ไซค์บินพี 2 สปีดเดอร์ (P2 Speeder) คือ เครื่องยนต์ไอพ่น 8 ตัว สามารถสร้างกำลังได้มากพอสำหรับพิสัยการบิน 644 กิโลเมตร และบินด้วยความเร็ว 805 กิโลเมตรต่อชั่วโมง น้ำหนักบรรทุก 450 กิโลกรัม ซึ่งนับว่าเป็นประสิทธิภาพที่มีความท้าทายทางด้านวิศวกรรมและหากทำได้สำเร็จจะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของของเทคโนโลยีอากาศยานบิน บริษัทเตรียมทดสอบต้นแบบมอเตอร์ไซค์บินพี 2 สปีดเดอร์ (P2 Speeder) ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้
สำหรับเหตุผลที่บริษัทเจ็ตแพ็ก เอวิเอชัน (Jetpack Aviation) ก่อตั้งบริษัทย่อยในเครือเป็นบริษัทเมย์แมน แอโรสเปซ (Mayman Aerospace) เนื่องจากต้องการให้บริษัทใหม่แห่งนี้พัฒนาอากาศยานบินรูปแบบ VTOL โดยเฉพาะรวมไปถึงสร้างนวัตกรรมการบินที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงไฮโดรเจน พัดลมไอพ่นไฟ้า ระบบการบินอัตโนมัติ รวมไปถึงเป้าหมายที่ท้าทายในอนาคต เช่น เครื่องบินความเร็วเหนือเสียง
ที่มาของข้อมูล newatlas.com flyingmag.com
ที่มาของรูปภาพ maymanaerospace.com
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67