TNN ตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยรีวกู อาจนำไปสู่การไขปริศนากำเนิดระบบสุริยะและสิ่งมีชีวิต

TNN

Tech

ตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยรีวกู อาจนำไปสู่การไขปริศนากำเนิดระบบสุริยะและสิ่งมีชีวิต

ตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยรีวกู อาจนำไปสู่การไขปริศนากำเนิดระบบสุริยะและสิ่งมีชีวิต

นักวิจัยศึกษาตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยรีวกูที่ถูกเก็บมาจากดาวเคราะห์น้อยโดยตรง ปราศจากการปนเปื้อน เพื่อไขปริศนาการเกิดของระบบสุริยะ

เป็นเวลากว่า 6 ปี ที่ยานอวกาศฮายาบูสะ 2 (Hayabusa 2) โดยองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (Japan Aerospace Exploration Agency) หรือแจ็กซา (JAXA) ถูกส่งให้เดินทางไปเก็บตัวอย่างพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อยรีวกู (Ryugu) ซึ่งอยู่ห่างจากโลกของเราไป 300 ล้านกิโลเมตร โดยในปี 2019 ยานอวกาศฮายาบูสะได้เดินทางไปเยือนดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวสำเร็จ และนำตัวอย่างพื้นผิวหนัก 5.4 กรัม เดินทางกลับมายังโลกในปี 2020


หลังจากการศึกษาตัวอย่างดังกล่าว พบผลการศึกษาที่น่าสนใจ 3 อย่างด้วยกัน คือ


1. น้ำและคาร์บอนไดออกไซด์

มีการตรวจพบร่องรอยของ H2O ซึ่งก็คือน้ำ และ CO2 ซึ่งก็คือคาร์บอนไดออกไซด์ โดยทั้ง 2 ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่พบได้ในสิ่งมีชีวิตบนโลก


2. แคลเซียม อลูมิเนียม อินคลูชัน (Calcium-Aluminum Inclusions หรือ CAIs) 

ซึ่งเป็นแคลเซียม อลูมิเนียม อินคลูชันที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบ คาดว่ามีอายุน้อยกว่าระบบสุริยะประมาณ 2-4 ล้านปี (ระบบสุริยะมีอายุ 4.6 พันล้านปี) 


ผลการศึกษาข้อ 1 และข้อ 2 เป็นผลการศึกษาของนักวิจัยจากแจ็กซา, หน่วยงานอวกาศเยอรมัน (German Aerospace Center), นาซา (NASA) และองค์การศึกษาวิจัยอวกาศแห่งชาติฝรั่งเศส (Centre national d'études spatiales)


3. สารอินทรีย์

สารอินทรีย์ดังกล่าวก็คือ กรดอะมิโน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของโปรตีนที่มีอยู่ในสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลก โดยผลการศึกษานี้เป็นของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอคายามะ (Okayama University) ประเทศญี่ปุ่น


นอกจากนี้องค์ประกอบ 3 ข้อ ที่กล่าวไปข้างต้นและองค์ประกอบอื่น ๆ ที่สามารถระบุตัวตนได้ ยังพบองค์ประกอบอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ในตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยรีวกู ซึ่งบางส่วนคาดว่าน่าจะเป็นองค์ประกอบตั้งแต่ยุคก่อนเกิดระบบสุริยะ



ข้อมูลจาก www.science.org และ phys.org

ภาพจาก nasa.gov

ข่าวแนะนำ