โครงการอาร์เทมิส โครงการที่จะพาเรากลับไปดวงจันทร์
เปิดแผนโครงการอาร์เทมิส ภารกิจเยือนดวงจันทร์หลังห่างหายไปนานกว่า 50 ปี เพื่อให้มนุษย์กลับไปเหยียบดวงจันทร์อีกครั้ง พร้อมทั้งศึกษาและเปลี่ยนดวงจันทร์ให้กลายเป็นจุดสำคัญในการสำรวจอวกาศที่ไกลขึ้น
Artemis Program หรือโครงการอาร์เทมิส เป็นโครงการของนาซา (NASA) ที่จะส่งนักบินอวกาศกลับไปเยือนดวงจันทร์อีกครั้งภายในปี 2024 โดยร่วมมือกับบริษัทเอกชนกว่า 3,800 แห่ง ในการสร้างจรวดเอสแอลเอส (SLS) หรือ Space Launch System และยานอวกาศโอไรออน (Orion) สำหรับใช้ในทุกภารกิจเยือนดวงจันทร์ของโครงการ ทั้งนี้ บริษัทเอกชนส่วนใหญ่เป็นบริษัทในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากจิม บริเดนสไตน์ (Jim Bridenstine) ผู้บริหารของนาซาต้องการให้โครงการอาร์เทมิสเป็นมากกว่าโครงการด้านวิทยาศาสตร์ แต่ต้องเป็นโครงการที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของคนในชาติได้ด้วย
ภารกิจอาร์เทมิส 1 (Artemis 1) ในภารกิจนี้จรวดเอสแอลเอสจะทำการส่งยานอวกาศโอไรออนแบบไร้นักบินอวกาศขึ้นสู่วงโคจรโลกเพื่อเดินทางเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ หลังจากนั้น ยานอวกาศโอไรออนจะเดินทางกลับสู่โลก และเมื่อเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ มันจะมีความเร็วอยู่ที่ 24,500 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือราว ๆ 39,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้แผ่นกันความร้อนของยานจะต้องเจอกับอุณหภูมิสูงถึง 5,000 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 2,760 องศาเซลเซียส ก่อนจะลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก โดยภารกิจครั้งนี้จะเป็นไปเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของจรวดเอสแอลเอสและยานอวกาศโอไรออน
ภารกิจอาร์เทมิส 2 (Artemis 2) จะส่งนักบินอวกาศจำนวน 4 คน เพื่อเดินทางไปเยือนดวงจันทร์ ซึ่งในตอนนี้ยังไม่มีประกาศรายชื่อนักบินอวกาศทั้ง 4 คน รวมไปถึงรายชื่อสำรองด้วย โดยในครั้งนี้ ระหว่างที่ยานอวกาศโอไรออนดิ่งลงมหาสมุทรแปซิฟิก นักบินอวกาศจะทำการพาราชูตออกจากยานอวกาศ และจะมีทีมภาคพื้นดินเข้าทำการรับตัว
ภารกิจอาร์เทมิส 3 (Artemis 3) ในครั้งนี้จะมีนักบินอวกาศหญิงร่วมเดินทางไปด้วยเพื่อสร้างสถิติผู้หญิงคนแรกบนดวงจันทร์ และจะมีการเดินบนดวงจันทร์ (Moonwalk) 2 ครั้ง ในภารกิจอาร์เทมิส 3 ใช้ยานอวกาศ Starship HLS ของบริษัท SpaceX นำนักบินอวกาศลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์
ในแผนของโครงการอาร์เทมิสมีกำหนดการสร้างเกตเวย์ (Gateway) ซึ่งจะทำหน้าที่คล้าย ๆ กับสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ที่โคจรรอบโลก แต่เกตเวย์จะโคจรอยู่รอบดวงจันทร์แทน นอกจากจะเป็นสถานที่ทำการทดลองด้านวิทยาศาสตร์ของนักบินอวกาศแล้ว เกตเวย์จะคอยช่วยสนับสนุนการลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ด้วย โดยมีแผนการจะส่งขึ้นสู่วงโคจรในปี 2023
ข้อมูลและภาพจาก www.nasa.gov
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67