หุ่นยนต์เอคโค (ECHO) นักสำรวจอาณานิคมนกเพนกวินจักรพรรดิในทวีปแอนตาร์กติกา
การทำงานของหุ่นยนต์เอคโค (ECHO) เชื่อมต่อกับสถานี SPOT สถานีการสังเกตและติดตามนกเพนกวิน นกเพนกวินจักรพรรดิตัวที่ได้รับการติดตั้ง ID-Chip บริเวณขาเพื่อทำการเก็บรวบรวมข้อมูล
ปัจจุบันมีการนำหุ่นยนต์มาใช้งานในรูปแบบที่หลากหลาย ล่าสุดทีมนักวิทยาศาสตร์ที่กำลังศึกษาอาณานิคมนกเพนกวินจักรพรรดิบริเวณอ่าวแอทคา (Atka) ในทวีปแอนตาร์กติกาได้ใช้หุ่นยนต์เอคโค (ECHO) เข้ามาช่วยสังเกตการณ์อาณานิคมของนกเพนกวินจักรพรรดิขนาดใหญ่ซึ่งมีจำนวนนกเพนกวินประมาณ 20,000 ตัว การศึกษาในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการระยะยาว 30 ปี ของทีมงานนักวิจัยจากสถาบันสมุทรศาสตร์วูดส์โฮล (WHOI) ในแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
เป้าหมายของการวิจัยศึกษาอาณานิคมนกเพนกวินจักรพรรดิในทวีปแอนตาร์กติกาเพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมของนกเพนกวินจักรพรรดิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปริมาณอาหารในธรรมชาติ ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในทวีปแอนตาร์กติกา ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อภูมิอากาศของโลก
หุ่นยนต์เอคโค (ECHO) มีขนาดความสูงประมาณ 1 เมตร ได้รับการออกแบบให้สามารถเคลื่อนที่ด้วยล้อเพื่อเข้าใกล้กับฝูงนกเพนกวินจักรพรรดิในระยะที่มนุษย์ไม่สามารถทำได้ ระบบการควบคุมสั่งการแบบไร้สายจากระยะไกลโดยมนุษย์ หุ่นยนต์ได้รับการติดตั้งกล้องและอุปกรณ์บันทึกข้อมูลของนกเพนกวินจักรพรรดิ
การทำงานของหุ่นยนต์เอคโค (ECHO) เชื่อมต่อกับสถานี SPOT สถานีการสังเกตและติดตามนกเพนกวิน ทำหน้าที่เป็นศูนย์เก็บรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ระบบการติดต่อสื่อสารกับหุ่นยนต์เอคโค (ECHO) ผ่านสัญญาณ Wifi ระยะไกล กล้องวิดีโอบันทึกภาพระยะไกล 16 ตัว อุปกรณ์ทางด้านอุตุนิยมวิทยาเพื่อตรวจสอบสภาพอากาศ กระแสลมและอุณหภูมิ
หุ่นยนต์เอคโค (ECHO) ทำงานร่วมกับระบบ MARE การตรวจสอบระบบนิเวศทางทะเลในทวีปแอนตาร์กติกาโดยการใช้นกเพนกวินจักรพรรดิที่ได้รับการติดตั้งอุปกรณ์สัญญาณที่เรียกว่า ID-Chip ซึ่งเป็นเทคโนโลยี RFID การระบุข้อมูลด้วยความถี่เคลื่อนวิทยุ หุ่นยนต์เอคโค (ECHO) สามารถเคลื่อนที่เข้าหานกเพนกวินจักรพรรดิตัวที่ได้รับการติด ID-Chip เพื่อทำการเก็บรวบรวมข้อมูลและบันทึกภาพ
ทีมนักวิทยาศาสตร์กล่าวเพิ่มเติมว่าการศึกษาวิจัยมีความสำคัญต่อมนุษย์โดยตรงเนื่องจากเรากำลังประสบปัญหาด้านต่าง เช่น ความเข้าใจวิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจอันมีผลจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง และจริยธรรม หากมนุษย์มีความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและระบบนิเวศของมหาสมุทรก็จะสามารถแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่มาของข้อมูล designboom.com
ที่มาของรูปภาพ whoi.edu, Twitter.com/Zitterbart_WHOI
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67