หุ่นยนต์ฟื้นฟูผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต ฝีมือคนไทย
หุ่นยนต์ฟื้นฟูผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต ฝีมือคนไทย ถูกพัฒนาขึ้นคิดค้นขึ้นเพื่อให้ผู้ป่วยทุกระดับเข้าถึงการรักษาด้วยเทคโนโลยี ในราคาที่จับต้องได้
ความสำคัญของโรคหลอดเลือดสมอง และสถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศไทย
ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด หรือคนไทยทุก ๆ 5 คน จะมีผู้สูงอายุ 1 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สะท้อนให้เห็นว่าไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปีนี้ ตามเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด โดยหนึ่งในเรื่องมองข้ามไม่ได้ก็คือ การดูแลสุขภาพและฟื้นฟูร่างกายของคนสูงวัย โดยเฉพาะตัวการสำคัญที่มาพร้อมกับอายุขัยที่เพิ่มขึ้นอย่าง “โรคหลอดเลือดสมอง” หรือ Stroke
โดยองค์การอนามัยโลก ระบุว่า ในแต่ละปีทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองราว 15 ล้านคน ในทุก ๆ 6 วินาที จะมีคนเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง 1 คน โรคนี้เกิดจากการที่หลอดเลือดสมองมีอาการตีบ อุดตัน หรือ แตก ทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่พอ ส่งผลให้สมองขาดเลือด และเมื่อสมองขาดเลือด เซลล์สมองจะถูกทำลาย ทำหน้าที่ไม่ได้ จึงทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิต ซึ่งอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต นี่เองที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เช่นเดิม ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษา และใช้ทรัพยากรคนดูแลในระยะยาว ซึ่งจัดเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ เนื่องจากแต่ละปีมีผู้ป่วยใหม่โรคหลอดเลือดสมองมากกว่า 3 แสนคน และต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี
จุดเริ่มต้นการพัฒนาหุ่นยนต์ฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
ปกติแล้ว การดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยที่มีอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต จำเป็นต้องอาศัยนักกายภาพบำบัดเพื่อช่วยในการฟื้นฟูร่างกาย แต่ปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีจึงได้มีการนำเอาหุ่นยนต์ฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง มาทำหน้าที่เสริมช่วยเหลือผู้ป่วยในการเคลื่อนไหวร่างกาย แต่หุ่นยนต์ฟื้นฟูส่วนใหญ่ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศจึงมีราคาสูง ซึ่งส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาเพิ่มสูงขึ้น
ด้วยปัญหานี้ จึงทำให้ ศ.ดร. วิบูลย์ แสงวีระพันธ์ุศิริ หัวหน้าศูนย์เทคโนโลยีหุ่นยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พัฒนาหุ่นยนต์ฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและผู้สูงอายุ เพื่อเข้ามาช่วยฟื้นฟูสมรรถนะเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว โดยมีราคาถูกต่างประเทศ 8 - 10 เท่า โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ป่วยทุกระดับมีโอกาสเข้าหาเทคโนโลยีในการรักษาฟื้นฟูร่างกาย
หลักการทำงานของหุ่นยนต์ฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
หุ่นยนต์เหล่านี้จะช่วยฝึกให้ผู้ป่วยใช้งานอวัยวะส่วนต่าง ๆ ด้วยการกระตุ้นการสั่งการของสมอง ซึ่งแบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ แบบสวมใส่ หรือแบบโครงร่าง และแบบจับที่ปลาย มีการพัฒนาหุ่นยนต์ ทั้งสิ้น 6 - 7 รูปแบบ เพื่อให้เหมาะสมกับการฟื้นฟูหัวไหล่ แขน ข้อศอก ข้อมือ และส่วนล่างคือ ขา ข้อเข่า และข้อเท้า
โดยแพทย์จะผู้วินิจฉัยและแจ้งว่าผู้ป่วยแต่ละคนเหมาะกับการฟื้นฟูด้วยหุ่นยนต์แบบใด
เทคโนโลยีในหุ่นยนต์ฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
สำหรับการออกแบบโครงสร้างของหุ่นยนต์ฟื้นฟู จะใช้เทคโนโลยี CNC หรือ Computer Numerical Control คือ การขึ้นรูปชิ้นงานผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ส่วนการทำงานควบคุมมีการพัฒนาระบบอัลกอริทึมทำงานร่วมกับระบบอื่น ๆ เช่น ระบบเซนเซอร์ ระบบขับเคลื่อน รวมถึงมีระบบ Cloud Computing (คลาวน์คอมพิวติง) หรือถังเก็บข้อมูลของผู้ป่วยจากการฝึก ซึ่งแพทย์สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ตลอดเวลาผ่านอินเทอร์เน็ตเพื่อใช้ประกอบการรักษา ซึ่งขณะผู้ป่วยใช้งานจะต้องมีนักกายภาพบำบัดคอยดูแลให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด โดยสามารถเห็นได้จากจอแสดงผลว่าผู้ป่วยมีการออกแรงหรือไม่ และออกแรงได้เท่าไหร่ นอกจากนี้ เจ้าหุ่นยนต์ จะทำงานในรูปแบบ assist as need ช่วยเท่าที่จำเป็น ปรับความเร็ว และแรงได้ ตามที่แพทย์ต้องการ
ใช้งานได้หลายสถานที่
ความน่าสนใจอีกอย่างของหุ่นยนต์ฟื้นฟูนี้อยู่ที่ขนาดที่ค่อนข้างเล็ก เคลื่อนย้ายสะดวก ตอบโจทย์โรงพยาบาลที่ต้องการเคลื่อนย้ายหุ่นยนต์บ่อยครั้ง และผู้ป่วยที่ต้องการเช่าไปใช้ที่บ้าน ขณะที่ผู้ป่วยบางคนอาจจะเกิดความเครียดหรือวิตกกังวลขณะฟื้นฟู ทีมผู้พัฒนาจึงมีการติดตั้งเกม 3 ระดับ เพื่อให้ผู้ป่วยได้เล่น ซึ่งช่วยสร้างทั้งกล้ามเนื้อและความผ่อนคลายได้ในระหว่างฝึก
การใช้งานหุ่นยนต์ฟื้นฟูผู้ป่วยในปัจจุบัน
ปัจจุบันมีการนำหุ่นยนต์ไปใช้กับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแล้วในโรงพยาบาล 13 แห่ง ในพื้นที่กทม. และภูมิภาคต่าง ๆ โดยเริ่มใช้ที่ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู สภากาชาดไทย และได้กระจายไปตามโรงพยาบาลต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงพยาบาลชลบุรี โรงพยาบาลหาดใหญ่
การพัฒนาต่อยอดในอนาคต
ที่ศูนย์เทคโนโลยีหุ่นยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมีการพัฒนาหุ่นยนต์ในรูปแบบอื่นเพิ่มเติม เพื่อช่วยงานในส่วนที่มนุษย์ไม่สามารถทำได้ เช่น การพัฒนา Assist Robot (หุ่นยนต์ผู้ช่วย) เพื่อช่วยคนยกของที่มีน้ำหนักมาก หรือช่วยงานที่คนเราทำไม่ได้
ซึ่งหุ่นยนต์ฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเหล่านี้ ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะเข้ามาแบ่งเบาภาระงานของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ในยุคที่จำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และถือเป็นความหวังของผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาตต้องการฟื้นฟูร่างกายให้กลับมามีชีวิตปกติได้ในที่สุด รวมถึงเป็นการพัฒนาก้าวสำคัญที่จะช่วยยกระดับความสามารถของหุ่นยนต์การแพทย์ไทยให้ทัดเทียมกับหุ่นยนต์จากต่างประเทศ ในราคาที่ประชาชนทุกระดับเข้าถึงได้
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67