เปิดตัวเครื่องบินไฮเปอร์โซนิก Talon-A ปล่อยตัวจากเครื่องบินขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
ภารกิจหลักของเครื่องบินไฮเปอร์โซนิก Talon-A คือ การทดสอบการเดินทางด้วยเครื่องบินความเร็วเหนือเสียง 5 มัค หรือความเร็วประมาณ 6,174 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
บริษัท Stratolaunch ผู้พัฒนาเครื่องบินขนส่งจรวดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เปิดตัวเครื่องบินไฮเปอร์โซนิก Talon-A หรือ TA-0 หลังจากโครงการพัฒนาเครื่องบินรุ่นนี้ถูกเปิดเผยในปี 2020 บริษัทได้ใช้เวลาในการพัฒนาเครื่องต้นแบบ Talon-A ประมาณ 2 ปี กำหนดการทดสอบครั้งแรกในช่วงปลายปีนี้ โดยใช้วิธีปล่อยตัวจากเครื่องบิน Stratolaunch ที่ระดับความสูงประมาณ 10 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก
เครื่องบินไฮเปอร์โซนิก Talon-A หรือ TA-0 ที่ถูกเปิดตัวในครั้งเป็นเครื่องต้นแบบไม่ใช่รุ่นที่เสร็จสมบูรณ์ ระบบควบคุมใช้การควบคุมจากระยะไกลไม่มีนักบินที่เป็นมนุษย์อยู่บนเครื่องบิน ระบบขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงจรวด เครื่องบินไฮเปอร์โซนิก Talon-A จะถูกติดตั้งไว้ใต้ปีกของเครื่องบิน Stratolaunch ก่อนปล่อยตัวเพื่อทำภารกิจ ส่วนวิธีการลงจอดใช้การลงจอดคล้ายกับเครื่องบินลงจอดบนสนามบิน
ภารกิจหลักของเครื่องบินไฮเปอร์โซนิก Talon-A คือ การทดสอบการเดินทางด้วยเครื่องบินความเร็วเหนือเสียง 5 มัค หรือความเร็วประมาณ 6,174 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทั้งในด้านของภารกิจทางการทหารและภารกิจด้านการทดลองวิทยาศาสตร์ ปัจจุบันบริษัทยังไม่เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับขีดความสามารถของเครื่องบินไฮเปอร์โซนิก Talon-A ทราบข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับเป้าหมายในการพัฒนา รวมไปถึงการทดสอบในระยะแรกเครื่องบินไฮเปอร์โซนิก Talon-A จะไม่มีการติดตั้งเครื่องยนต์จรวดอย่างเสร็จสมบูรณ์อาจเป็นการทดสอบบินร่อนลงจอดบนสนามบิน
สำหรับเครื่องบิน Stratolaunch หรือ Roc รูปทรงภายนอกคล้ายการนำเครื่องบิน 2 ลำ มาเชื่อมต่อกันด้วยปีกขนาดใหญ่ความกว้างวงปีก 117 เมตร ความยาวของเครื่องบิน 110 เมตร เครื่องบินใช้เครื่องยนต์ 6 เครื่อง แนวคิดหลักในการออกแบบเครื่องบินรุ่นนี้ คือ ใช้ปฏิบัติภารกิจบรรทุกไฮเปอร์โซนิกและจรวดขนส่งดาวเทียมน้ำหนัก 250 ตัน ไปที่ระดับความสูงประมาณ 11 กิโลเมตรเหนือพื้นโลกก่อนปล่อยจรวดขึ้นสู่อวกาศ โดยหลังเสร็จสิ้นการปล่อยตัวเครื่องบิน Stratolauch บินกลับมาลงจอดที่สนามบินเพื่อรอปฏิบัติภารกิจถัดไป
ที่มาของข้อมูล newatlas.com
ที่มาของรูปภาพ stratolaunch.com
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67