TNN เหลียวหลัง แลหน้า เปิดประวัติ ‘คาร์ซีท’ จากสหรัฐฯ สู่ไทย เราพร้อมแล้วหรือยัง สำหรับเทคโนโลยีความปลอดภัยนี้?

TNN

Tech

เหลียวหลัง แลหน้า เปิดประวัติ ‘คาร์ซีท’ จากสหรัฐฯ สู่ไทย เราพร้อมแล้วหรือยัง สำหรับเทคโนโลยีความปลอดภัยนี้?

 เหลียวหลัง แลหน้า เปิดประวัติ ‘คาร์ซีท’ จากสหรัฐฯ สู่ไทย เราพร้อมแล้วหรือยัง สำหรับเทคโนโลยีความปลอดภัยนี้?

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 ให้บังคับใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ภายในอีก 120 วันนับแต่วันประกาศ

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 ให้บังคับใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ภายในอีก 120 วันนับแต่วันประกาศ หรือเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 7 กันยายน 2565 เป็นต้นไป เนื้อหาใจความสำคัญในราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้ผู้ขับขี่ และผู้โดยสาร ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งตลอดเวลาในขณะโดยสารรถยนต์ ซึ่งเป็นข้อระเบียบบังคับตามปกติที่ใช้กันมา แต่ใจความสำคัญอยู่ที่หมวด (2) ข้อ ข. ผู้โดยสาร ซึ่งระบุว่า 


(ข) คนโดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องจัดให้นั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือนั่งในที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย หรือมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ทั้งนี้ หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท 


ซึ่งการประกาศบังคับใช้มาตรการนี้ ทำให้เกิดข้อถกเถียงกันในโซเชียลเน็ตเวิร์ค ถึงความเหมาะสมในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างล้นหลาม จนล่าสุด ทางการออกมาระบุว่า ในการบังคับใช้ช่วงแรก จะเป็นเพียงการขอความร่วมมือ ยังไม่ใช่การบังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจัง กรณีนี้ TNN Tech จะขอพาท่านผู้อ่านดำดิ่งสู่ประวัติความเป็นมาของคาร์ซีท (เบาะนิรภัยสำหรับเด็ก) ในสหรัฐอเมริกา ว่ามีความเป็นมาอย่างไรบ้าง


จุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์แห่งคาร์ซีท


ก่อนที่จะมีคาร์ซีทสำหรับเด็ก เหล่าพ่อแม่ชาวสหรัฐฯ จะใช้เบาะนั่งธรรมดาในรถยนต์ แล้วปรับเบาะให้ราบลงแล้วใช้เข็มขัดรัดบริเวณเอวของเด็กไว้ 


 เหลียวหลัง แลหน้า เปิดประวัติ ‘คาร์ซีท’ จากสหรัฐฯ สู่ไทย เราพร้อมแล้วหรือยัง สำหรับเทคโนโลยีความปลอดภัยนี้?

ที่มาของรูปภาพ ebay.com

จนกระทั่งในปี 1933 บริษัทบันนี แบร์ คอมปานี (Bunny Bear Company) ของสหรัฐฯ คิดค้นที่นั่งให้กับเด็กในรถยนต์ออกมา โดยใช้ที่นั่งเสริมวางต่อจากเบาะนั่งปกติ ให้เด็กนั่งอยู่ในระดับสายตาของผู้ปกครอง แต่จุดประสงค์จริง ๆ แล้ว ผลิตขึ้นมาเพื่อห้ามเด็กไม่ให้เคลื่อนที่ไปรอบ ๆ รถยนต์ คาร์ซีทเด็กในยุคนี้จึงไม่มีความปลอดภัยอย่างสิ้นเชิง 


 เหลียวหลัง แลหน้า เปิดประวัติ ‘คาร์ซีท’ จากสหรัฐฯ สู่ไทย เราพร้อมแล้วหรือยัง สำหรับเทคโนโลยีความปลอดภัยนี้?

ที่มาของรูปภาพ Jason Rivkin


ในปี 1962 จีน เอมส์ (Jean Ames) นักออกแบบชาวสหราชอาณาจักร คิดค้นที่นั่งเด็ก ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางให้กับเด็กอย่างจริงจังออกมาเป็นครั้งแรก โดยที่นั่งของเอมส์ ออกแบบโดยให้เด็กหันหน้าเข้าหาเบาะรถยนต์ในทิศทางตรงข้ามกับที่รถเคลื่อนที่ไป และในปีเดียวกัน เลน ริฟคิน (Len Rivkin) นักประดิษฐ์ชาวสหรัฐฯ ออกแบบที่นั่งที่มีโครงสร้างเป็นเหล็กชิ้นแรก และเริ่มการใช้หัวเข็มขัดนิรภัย แบบที่ใช้ในของผู้ใหญ่ แต่อย่างไรก็ดี นั่งพิเศษของเอมส์ และริฟคิน ยังไม่ได้มีมาตรฐานความปลอดภัยเทียบเท่ากับที่ใช้ในปัจจุบัน 



 เหลียวหลัง แลหน้า เปิดประวัติ ‘คาร์ซีท’ จากสหรัฐฯ สู่ไทย เราพร้อมแล้วหรือยัง สำหรับเทคโนโลยีความปลอดภัยนี้?

ที่มาของรูปภาพ Ford


ขณะที่บริษัทรถยนต์ฟอร์ด (Ford) ของสหรัฐฯ เป็นผู้ผลิตรายแรกที่เปิดตัวคาร์ซีทรุ่น แอสโตร-การ์ด (Astro-Guard) โดยใช้สายรัดแบบสี่จุด ทำให้เด็กอยู่กับที่ โดยฟอร์ดปรับปรุงการออกแบบเพิ่มเติม จนเมื่อปี 1965 ฟอร์ดก็เปิดตัวคาร์ซีทรุ่น ทอต-การ์ด (Tot-Guard) ซึ่งมีพื้นผิวเป็นพลาสติกที่ช่วยพยุงร่างกายส่วนบนของเด็กไว้ ส่วนบริษัทจีเอ็ม (General Motors) ของสหรัฐฯ ก็เปิดตัวคาร์ซีทรุ่น เลิฟ ซีทส์ (Love Seats) ในปี 1969 โดยมีทั้งขนาดสำหรับทารกและเด็ก โดยมีวัสดุทำมาจากมาจากโพลีโพรพีลีนและบุด้วยโฟมยูรีเทน ทำให้มีน้ำหนักเบา แต่แข็งแรงทนทานยิ่งขึ้น 


แต่แม้ว่าคาร์ซีทของฟอร์ด และจีเอ็ม จะผ่านการทดสอบจำลองการเกิดอุบัติเหตุ ของรัฐบาลสหรัฐฯ ในปี 1971 อย่างไรก็ดี ที่นั่งของบริษัททั้งสองไม่ผ่านการทดสอบขององค์กรคอนซูเมอร์ รีพอร์ตส์ (Consumer Reports) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือเหล่าผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในสหรัฐฯ ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในหมู่ประชาชน ว่าเทคโนโลยีคาร์ซีท จะช่วยลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตของเด็กลงได้ 


จากแนวทาง สู่กฎหมายบังคับใช้อย่างจริงจัง

 

ในปี 1972 รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ออกกฎหมายมาตรฐานความปลอดภัยเบาะนั่งนิรภัยฉบับแรก โดยกำหนดให้ใช้สายรัดนิรภัยแบบสามจุดสำหรับเด็ก และบังคับใช้เข็มขัดนิรภัยเพื่อติดคาร์ซีทเข้ากับเบาะรถยนต์ ด้านหน่วยงานบริหารความปลอดภัยการจราจรบนทางหลวงแห่งชาติสหรัฐฯ (NHTSA) ได้ประกาศข้อแนะนำการติดตั้งเบาะนิรภัยในชื่อ ‘FMVSS213’ ซึ่งเป็นเพียงการแนะนำให้ใช้เข็มขัดนิรภัยสำหรับยึดเบาะรถยนต์ไว้ในรถ และสายรัดเพื่อยึดเด็กไว้ในเบาะรถ แต่ยังไม่มีข้อบังคับให้ต้องผ่านการทดสอบการชนแต่อย่างใด ด้านคอนซูเมอร์ รีพอร์ตส์ ตีพิมพ์บทความนำเสนอว่า เบาะรถยนต์ส่วนใหญ่ที่ผ่านระเบียบ FMVSS213 นั้น ไม่สามารถลดความเสียหายที่เกิดต่อตัวเด็กในการทดสอบการชนได้ 

 

จากการถูกตรวจสอบ ทำให้เกิดการตั้งคำถามในหมู่ประชาชนว่า กฎหมายที่ใช้กับบริษัทผู้ผลิตคาร์ซีทไร้ประสิทธิภาพ และในที่สุดเมื่อเวลาผ่านไป 9 ปี มีประกาศกฎหมายรัฐบาลกลาง กำหนดให้เหล่าผู้ปกครองต้องใช้เบาะนิรภัย(คาร์ซีท) สำหรับเด็ก และถูกประกาศใช้ทั่วไปในปี 1982

 

แม้จะมีการประกาศใช้กฎหมายเบาะนิรภัยสำหรับเด็กไปแล้ว แต่ช่วงกลางทศวรรษที่ 1980 พบว่ายังมีการใช้เบาะนิรภัยแบบผิด ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก จากปัญหาความยากลำบากในการใช้งาน และการติดตั้งอย่างแบบผิด ๆ ในการสำรวจจากหน่วยงานรัฐบาลกลาง พบว่า มีผู้ใช้เพียง 20% เท่านั้น ที่ใช้เบาะนิรภัยสำหรับเด็กได้ถูกต้อง ทำให้ทั้งหน่วยงานรัฐบาล และผู้ผลิตเอกชน ต่างเร่งพัฒนาเทคโนโลยีคาร์ซีท เพื่อยกระดับความปลอดภัย และทำให้ง่ายต่อการใช้งานมากขึ้น


ยุคทองแห่งคาร์ซีท


ในช่วงปี 2000 มีการยกระดับเทคโนโลยีคาร์ซีทครั้งใหญ่ โดยมีการเปิดตัวทั้งคาร์ซีทสำหรับเด็กทารกโดยเฉพาะ, คาร์ซีทแบบ 3 in 1 ซึ่งสามารถปรับใช้กับเด็ก 3 ช่วงวัย คือ ทารก เด็กเล็ก และเด็กโต รวมถึงคาร์ซีทสำหรับระบบขนส่งมวลชน การยกระดับทั้งหมดนี้เปิดตัวในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน และได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม จนกลายเป็นมาตรฐานของผู้ปกครองของชาวสหรัฐฯ ที่มีบุตรหลานไปในที่สุด มีการนำเสนอคาร์ซีทในภาพยนตร์โดยทั่วไป เป็นเหมือนตราสัญลักษณ์เฉพาะของภาพยนตร์ที่ถูกผลิตในสหรัฐอเมริกา 


 เหลียวหลัง แลหน้า เปิดประวัติ ‘คาร์ซีท’ จากสหรัฐฯ สู่ไทย เราพร้อมแล้วหรือยัง สำหรับเทคโนโลยีความปลอดภัยนี้? ที่มาของรูปภาพ Little Lukas


และเมื่อปี 2002 รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ออกข้อบังคับให้รถทุกคันจะต้องมีการติดตั้งระบบ LATCH (Lower, Anchors & Tethers for Children) ซึ่งกำหนดให้มีจุดยึด ทำให้ผู้ปกครองสามารถติดตั้งและถอดพับเก็บคาร์ซีทจากยานพาหนะต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย ทั้งยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ 


คาร์ซีทในภาพยนตร์


ช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา หากเราดูหนังฮอลลีวูด อาจเคยเห็นฉากที่ผู้ปกครองเดินทางกับเด็กเล็ก หรือเด็กทารก และจะมีอุปกรณ์ที่นั่งพิเศษที่ติดเสริมจากที่นั่งปกติ ซึ่งอุปกรณ์นี้จะปรากฎในหนังแทบทุกเรื่องที่มีฉากการเดินทางโดยรถยนต์ที่มีเด็กเป็นผู้โดยสาร อุปกรณ์ที่ว่านี้ก็คือ คาร์ซีท (Car Seat) ซึ่งถูกบังคับใช้เป็นกฎหมายในสหรัฐฯ โดยจะมีการระบุถึงน้ำหนัก และช่วงวัยของเด็กที่ต้องใช้คาร์ซีท แตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ


หากผู้ใดฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าว ในสหรัฐอเมริกา กฎหมายได้ระบุบทลงโทษแตกต่างกันไปแล้วแต่พื้นที่ โดยจะมีค่าปรับสำหรับผู้ที่ไม่ติดตั้งคาร์ซีทสำหรับเด็ก เริ่มต้นที่ 25 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 800 บาท เช่นในรัฐมิสซิสซิปปี ,เดลาแวร์ ส่วนในบางรัฐ เช่น ฮาวาย จะมีค่าปรับเริ่มต้นที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ และอาจปรับสูงสุดได้ถึง 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,000 บาท) ตามอัตราโทษสูงสุด


ส่วนอัตราโทษสำหรับประเทศพันธมิตรที่ใกล้ชิดของสหรัฐฯ เช่นสหราชอาณาจักร กำหนดไว้ว่า เด็กที่มีส่วนสูงน้อยกว่า 135 เซนติเมตรลงไป หรืออายุน้อยกว่า 12 ปี ต้องใช้อุปกรณ์ส่วนควบ หรือเบาะนั่งนิรภัยที่เหมาะสมสำหรับเด็กในแต่ละช่วงวัย หากฝ่าฝืนจะมีค่าปรับ 60 ปอนด์ (ราว 2,500 บาท) หรือหากคดีความไปถึงชั้นศาล อาจมีค่าปรับสูงสุดถึง 500 ปอนด์ (21,000 บาท) 


 เหลียวหลัง แลหน้า เปิดประวัติ ‘คาร์ซีท’ จากสหรัฐฯ สู่ไทย เราพร้อมแล้วหรือยัง สำหรับเทคโนโลยีความปลอดภัยนี้?

ที่มาของรูปภาพ Reuters


เทคโนโลยีคาร์ซีทปัจจุบันไปถึงไหนแล้ว


ข้อมูลการสำรวจในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พบว่า การเสียชีวิตของเด็กชาวสหรัฐฯ ที่มีช่วงอายุ 0-15 ปี มากกว่า 57% เกิดขึ้นเพราะเด็กไม่ได้นั่งในคาร์ซีท เช่นในปี 2018 มีเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี 636 คน เสียชีวิต โดยในจำนวนนี้ 33% เสียชีวิตเพราะไม่ได้นั่งในคาร์ซีท และจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดนี้เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น เพราะหากนับรวมถึงยอดผู้บาดเจ็บด้วย จะมีเด็กบาดเจ็บและเสียชีวิตถึง 183,636 คน


ผู้เชี่ยวชาญ บริษัทผู้ผลิต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสหรัฐฯ ยังคงเร่งปรับปรุงข้อกำหนด และยกระดับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีคาร์ซีทอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ในคาร์ซีท ที่ช่วยปกป้องเด็กในรถได้มากขึ้น 


ขณะที่ผู้ผลิตคาร์ซีท ต้องผ่านมาตรฐานการทดสอบการชนอย่างเข้มข้นโดยรัฐบาลกลาง จึงจะสามารถวางจำหน่ายสินค้าได้ ทั้งยังมีอาชีพเกิดใหม่ เช่นช่างเทคนิคพิเศษที่รับตรวจสอบการติดตั้งคาร์ซีท ซึ่งได้รับความนิยมใช้บริการจากเหล่าผู้ปกครองอย่างสูง 


ปัจจุบัน นักออกแบบกำลังเร่งระดมพลังสมอง เพิ่มความเป็นมิตรต่อผู้ใช้ (User Friendly) ในการติดตั้งคาร์ซีทให้ง่ายขึ้นไปอีก โดยยังคงรักษามาตรฐานความปลอดภัยสูงสุดเอาไว้ได้ เช่นบริษัทวอลโว (Volvo) นำเสนอคอนเซ็ปต์ไอเดีย ที่เจ้าของรถสามารถถอดเปลี่ยนเบาะนั่งผู้โดยสารด้านหน้าเป็นคาร์ซีทสำหรับเด็ก โดยจะติดตั้งไว้กับแท่นยึดอย่างแน่นหนา เพื่อให้เด็กที่อยู่ในคาร์ซีท มองเห็นพ่อแม่ที่กำลังขับรถอยู่ได้ ลดอาการงอแงในเด็กลง ขณะที่ด้านผู้ผลิตบริษัทอื่น ๆ กำลังมุ่งเน้นการขายคาร์ซีทที่ปรับเปลี่ยนขนาดของเบาะตามอายุและช่วงวัยของเด็กได้ 


 เหลียวหลัง แลหน้า เปิดประวัติ ‘คาร์ซีท’ จากสหรัฐฯ สู่ไทย เราพร้อมแล้วหรือยัง สำหรับเทคโนโลยีความปลอดภัยนี้?


ที่มาของรูปภาพ Chicco



ทั้งนี้ มีคำแนะนำจากแพทย์ในการใช้คาร์ซีทดังนี้ 


เด็กวัยแรกเกิดจนถึง 4 ขวบ ในการใช้คาร์ซีทสำหรับเด็กวัยนี้ ควรใช้คาร์ซีทแบบหันหน้าเข้าหาเบาะ เพื่อลดการบาดเจ็บจากการกระแทกเข้ากับถุงลมนิรภัย หากเกิดอุบัติเหตุ 


เด็กวัย 4 ขวบเป็นต้นไป ควรใช้คาร์ซีทแบบเด็กทารก แต่สามารถให้หันหน้ามาฝั่งเดียวกันกับผู้ปกครองได้แล้ว และสามารถใช้จนกระทั่งไม่สามารถใช้คาร์ซีทแบบทารกได้ ให้เปลี่ยนไปใช้แบบที่นั่งเสริม (booster seat) แทน 


เด็กวัย 5-9 ขวบ  ควรให้ใช้ที่นั่งเสริม (booster seat) จนกระทั่งเด็กสามารถคาดเข็มขัดนิรภัยแบบปกติได้อย่างพอดี ซึ่งจะอยู่ในช่วงวัย 9-12 ปี 


เด็กวัย 12 ปี หรือเด็กที่มีร่างกายเติบโตใกล้เคียงผู้ใหญ่ ให้ใช้เข็มขัดนิรภัยแบบปกติ


 เหลียวหลัง แลหน้า เปิดประวัติ ‘คาร์ซีท’ จากสหรัฐฯ สู่ไทย เราพร้อมแล้วหรือยัง สำหรับเทคโนโลยีความปลอดภัยนี้?


ที่มาของรูปภาพ CDC


แต่คาร์ซีท ไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง


อย่างไรก็ดี แม้จะมีกฎระเบียบ และการทดสอบ หรือการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ มากมายในช่วงที่ผ่านมา แต่คาร์ซีทก็ไม่ใช่โล่วิเศษ ที่ช่วยป้องกันอันตรายได้ทุกชนิด หากเกิดอุบัติเหตุที่มีแรงกระแทกเข้ามาถึงภายในห้องโดยสารโดยตรง ก็ย่อมเกิดอันตรายขึ้นกับตัวเด็กที่โดยสารอยู่ดี ไม่ว่าจะใช้คาร์ซีทหรือไม่ก็ตาม


เมื่อมองย้อนกลับมาที่ไทย หากเปรียบเทียบกันดูแล้ว กฎหมายคาร์ซีทสำหรับเด็กของไทย เริ่มบังคับใช้ช้ากว่าของสหรัฐฯ ราว 40 ปี แต่ตามข้อเท็จจริงแล้ว สหรัฐฯ ก็ต้องก้าวข้ามผ่านกระบวนการปรับปรุงข้อกฎหมาย จนมาถึงปัจจุบัน ที่คาร์ซีทถือเป็น ‘ของสามัญประจำบ้าน’ ที่มีกันทุกครัวเรือนจนได้ในที่สุด แต่หากจะถามว่า ประเทศไทย “พร้อมหรือยัง?” สำหรับการบังคับใช้กฎหมายคาร์ซีท ก็คงเป็นเรื่อง “ต่างคนต่างคิด” ที่ต้องหาข้อสรุปกันไป 


แต่แน่นอนว่า การบังคับใช้ ‘คาร์ซีท’ ในไทย เป็นการจุดประกายครั้งสำคัญ ที่จะช่วยให้อัตราการสูญเสียชีวิตในเด็กลดลง ซึ่งเป็นความเสียหายที่ประเมินถึงมูลค่าที่แท้จริงได้ยาก เนื่องจากเด็กที่อาจบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตจากการไม่ได้ใช้คาร์ซีท จะเติบโตไปเป็นอนาคตของชาติ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไปในภายภาคหน้า 


ที่มาของข้อมูล cdc.gov, verywellfamily.com, motherhoodhq.com, goodhousekeeping.com


ที่มาของภาพ Sharon McCutcheon


ข่าวแนะนำ