หัวหน้าฝ่าย ML ของ Apple ประกาศลาออก เพราะไม่เห็นด้วยกับนโยบาย "กลับมาทำงานที่ออฟฟิศ"
อาจเพราะนโยบายแกมบังคับและไม่ยืดหยุ่นเท่าที่ควร ส่งผลให้เขาตัดสินใจลาออก
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้บริษัทหลายแห่งปรับเปลี่ยนแผนการทำงานจากการทำงานในออฟฟิศ เป็นการทำงานระยะไกลจากที่บ้าน (Remote work หรือ Work from home) ซึ่งบางคนอาจจะชื่นชอบรูปแบบการทำงานจากที่บ้านมากกว่า และไม่อยากกลับไปทำงานในออฟฟิศอีกเลยก็เป็นได้
และแน่นอนว่าพนักงานของบริษัทยักษ์ใหญ่ก็อาจมีความรู้สึกเช่นเดียวกัน ล่าสุด เอียน กู๊ดเฟลโลว์ (Ian Goodfellow) หัวหน้าฝ่าย Machine learning ของ Apple ยื่นจดหมายลาออกหลังบริษัทประกาศนโยบายให้พนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ
เอียนอยู่ในสังเวียนการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน Machine learning มาแล้วมากมาย ก่อนหน้าที่เขาได้รับตำแหน่งงานมาจากหลายบริษัท เริ่มต้นจากการเป็นนักวิจัยที่ OpenAI บริษัทวิจัยปัญญาประดิษฐ์ไม่หวังผลกำไรที่ก่อตั้งโดย อีลอน มัสก์ จากนั้นจึงย้ายมาทำงานร่วมกับบริษัท Google แล้วจึงมารับตำแหน่งหัวหน้าฝ่าย Machine learning ของ Apple
ผลงานอันเลื่องชื่อของเอียน คือ การพัฒนา Generative adversarial network (GAN) โมเดลสร้างภาพเสมือนจริงโดยอาศัยชุดข้อมูลที่สร้างขึ้นแล้วนำมาเปรียบเทียบกับคำสั่งที่ใส่ลงไป ยกตัวอย่างเช่น การสร้างภาพทิวทัศน์จากภาพวาดระบายสีธรรมดา ๆ ด้วย NVIDIA GauGAN ซึ่งประยุกต์มาจากเทคโนโลยี GAN ของเอียนด้วย
ด้วยความสามารถของเอียนทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาด้าน Machine learning ระดับต้น ๆ และอาจจะกล่าวได้ว่าเขาคือคนที่เก่งที่สุดใน Apple เลยก็ว่าได้ (สำหรับงานด้าน Machine learning)
อย่างไรก็ตาม ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจากการระบาดของโรคโควิด-19 บริษัท Apple ได้ประกาศให้พนักงานทำงานจากที่บ้านรวมถึงเอียนด้วยเช่นกัน จนกระทั่งเมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายทางบริษัทจึงประกาศนโยบาย Return-to-office ให้พนักงาน "ต้อง" กลับมาทำงานในออฟฟิศอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ ไม่นานเอียนก็ได้ยื่นจดหมายลาออกให้กับทางฝ่ายบริหารในที่สุด
ทั้งนี้ เอียนไม่ได้กล่าวถึงสาเหตุว่าทำไมเขาจึงตัดสินใจลาออก หากแต่กล่าวเป็นนัยทิ้งท้ายไว้ว่า "ผมเชื่อว่าการทำงานที่ยืดหยุ่นได้จะเป็นนโยบายที่ดีที่สุดสำหรับทีมงานของผม" แน่นอนว่าการประกาศนโยบายแกมบังคับของ Apple จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นเหตุให้เอียนตัดสินใจลาออก ในขณะที่พนักงานคนอื่น ๆ ในแผนกเดียวกันยังไม่มีความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นนี้
อาจมีผู้อ่านบางท่านตั้งข้อสังเกตว่า การทำงานที่บ้านหรือทำงานจากระยะไกล จะมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการทำงานในออฟฟิศจริง ๆ หรือ? งานวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส เอแอนด์เอ็ม (Texas A&M University) เผยว่า การทำงานที่บ้านหรือการทำงานจากระยะไกล มีประสิทธิภาพไม่ต่างจากการทำงานในออฟฟิศ
นอกจากนี้ ในบางสถานการณ์ การทำงานที่บ้านอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้มากกว่าด้วย ซึ่งนักวิจัยพบว่า ประเด็นเรื่องของอิริยาบถของการทำงานในออฟฟิศ สามารถส่งผลต่อสุขภาพของพนักงาน จนเป็นเหตุให้ประสิทธิภาพของการทำงานในออฟฟิศลดต่ำลง ในขณะที่การทำงานที่บ้านพนักงานมีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนอิริยาบถได้มากกว่า จึงได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้น้อยกว่านั่นเอง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Mac Rumors, Interesting Engineering
ข่าวแนะนำ
-
จีนทดลองวิ่งรถบรรทุกไร้คนขับ
- 08:11 น.
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67