อยากติดแผงโซลาร์เซลล์ ต้องรู้อะไรบ้างก่อนตัดสินใจ?
แผงโซลาร์เซลล์ 3 ประเภท และระบบการทำงาน 3 ระบบ แบบไหนถึงเหมาะกับการใช้งานของเรา พร้อมวิธีคำนวณค่าไฟ
สมัยนี้ใคร ๆ ก็หันมาให้ความสนใจพลังงานสะอาด นอกจากจะรักษ์โลกแล้วยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาวอีกด้วย แต่ก่อนจะลงทุนให้ช่างมาติด ต้องรู้อะไรบ้าง?
ประเภทของแผงโซลาร์เซลล์มีด้วยกันทั้งหมด 3 ประเภท ได้แก่
โมโนคริสตัลไลน์ (Monocrystalline Silicon Solar Cells)
โพลีคริสตัลไลน์ (Polycrystalline Silicon Solar Cells)
แผงโซลาร์เซลล์ชนิดฟิล์มบาง (Thin Film Solar Cells)
โมโนคริสตัลไลน์มีประสิทธิภาพสูงที่สุดจากทั้งหมด 3 ชนิด เนื่องจากผลิตจากวัสดุเกรดดีที่สุด มีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 15-20 เปอร์เซ็นต์ และมีอายุใช้งานเฉลี่ยยาวนานที่สุดอยู่ที่ 25 ปี ทั้งนี้ มันมาพร้อมกับราคาที่สูงที่สุดเช่นกัน และหากตัวแผงสกปรกหรือมีวัสดุแปลกปลอมเช่น ใบไม้ เป็นต้น มาบดบังการทำงานของตัวแผงอาจทำให้วงจรหรือตัวแปลงไฟ (Inverter) ไหม้ได้
โพลีคริสตัลไลน์มีประสิทธิภาพและราคารองลงมาจากโมโนคริสตัลไลน์ มีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 13-16 เปอร์เซ็นต์ ทำงานได้ไม่ดีนักในพื้นที่แสงน้อย เมื่อเทียบกับอีก 2 ชนิด มันมีสีที่โดดเด่นที่สุด (สีน้ำเงิน) ซึ่งอาจจะไม่เข้ากับตัวบ้านของใครหลาย ๆ คนสักเท่าไหร่
แผงโซลาร์เซลล์ชนิดฟิล์มบางราคาถูกที่สุดและมีประสิทธิภาพต่ำที่สุด กินพื้นที่มากเนื่องจากประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าต่อพื้นที่น้อย ทำงานได้ดีในอุณหภูมิสูง ไม่มีปัญหาเรื่องวงจรหรือตัวแปลงไฟไหม้
ระบบการใช้งานแผงโซลาร์เซลล์มี 3 ชนิด
1. ระบบออฟกริด (Off Grid) คือ ไฟฟ้ากระแสตรง DC (Direct Current) จากแผงโซลาร์เซลล์ถูกส่งออกเป็น 2 ทาง ทางที่ 1 จะส่งไปเก็บไว้กับแบตเตอรี่ ทางที่ 2 จะส่งไปยังตัวแปลงไฟซึ่งจะแปลงไฟฟ้ากระแสตรงเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ AC (Alternating Current) แล้วจ่ายให้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในครัวเรือน
ทางที่ 1 จะทำงานเมื่อพระอาทิตย์ตกดิน เพราะทางที่ 2 ที่รับกระแสไฟโดยตรงจากแผงโซลาร์จะไม่มีไฟฟ้าส่งมาเนื่องจากแสงหมด ไฟฟ้ากระแสตรงที่ถูกเก็บไว้ในแบตเตอรี่จะจ่ายไปยังตัวแปลงไฟ หลังจากนั้นตัวแปลงไฟจะส่งไฟฟ้าไปยังเครื่องใช้ไฟฟ้า
2. ระบบออนกริด (On Grid) คือ ไฟฟ้ากระแสตรงจากแผงโซลาร์เซลล์ถูกส่งไปยังตัวแปลงไฟ โดยตัวแปลงไฟจะส่งไฟให้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในครัวเรือน แต่ระบบนี้มีการเชื่อมต่อกับระบบของการไฟฟ้า กล่าวคือบ้านจะใช้ไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์แค่ในเวลากลางวัน และจะใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าในเวลากลางคืน นอกจากนี้ หากผลิตไฟฟ้าได้มาก เจ้าของสามารถขายไฟให้กับการไฟฟ้าได้ด้วยผ่านระบบที่เชื่อมต่อกัน
3. ระบบไฮบริด (Hybrid) คือ ระบบที่ผสมกันระหว่างออฟกริดและออนกริด คือมีการใช้ไฟจากทั้งแผงโซลาร์เซลล์โดยตรง ใช้ไฟจากการไฟฟ้าหรือเครื่องปั่นไฟ และสุดท้ายจากแบตเตอรี่ แต่ระบบนี้ตามมาด้วยงบประมาณที่สูง และการไฟฟ้ายังไม่รับซื้อไฟฟ้าจากระบบนี้
ฉะนั้นผู้ที่ต้องการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในครัวเรือนต้องคำนึงก่อนว่าพื้นที่บ้านของตนมีมากน้อยแค่ไหน ใน 1 วัน บ้านของเราใช้ไฟฟ้าทั้งหมดกี่หน่วย คิดเป็นค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ต่อเดือน และต้องใช้เวลานานแค่ไหนถึงจะคุ้มทุน ซึ่งค่าใช้จ่ายในการติดตั้งมักจะขึ้นอยู่กับชนิด พื้นที่ และบริษัทที่รับติดตั้ง
โดยมีวิธีการคำนวณหน่วยไฟและราคาที่ใช้ดังนี้
{(กำลังไฟฟ้า (วัตต์ ) x จำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้า) ÷ 1000} x จำนวนชั่วโมงที่ใช้ใน 1 วัน = จำนวนหน่วย/วัน (ยูนิต)
ยกตัวอย่าง: บ้านหลังหนึ่งมีหลอดไฟกำลัง 50 วัตต์ จำนวน 10 ดวง เปิดใช้ทุกดวงวันละ 10 ชั่วโมง (ค่าไฟยูนิตละ 4 บาท)
{(50 x 10) ÷ 1000} x 10 = 5 ยูนิต/วัน
5 x 30 = 150 ยูนิต/เดือน
150 x 4 (ค่าไฟ/ยูนิต) = 600 บาท
ข้อมูลจาก www.gump.in.th
ข่าวแนะนำ
-
จีนทดลองวิ่งรถบรรทุกไร้คนขับ
- 08:11 น.
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67