Hydrus หุ่นยนต์ดำน้ำอัตโนมัติ สำรวจใต้มหาสมุทรโดยใช้ต้นทุนน้อยกว่า
หุ่นยนต์ดำน้ำอัตโนมัติ Hydrus ทำความเร็วสูงสุดใต้น้ำ 4 นอต หรือ 7 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดำน้ำลึกสูงสุด 3 กิโลเมตร ควบคุมจากระยะไกลสุด 9 กิโลเมตร
ปัจจุบันการสำรวจใต้มหาสมุทรมีความสำคัญทั้งในด้านของการหาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมใต้มหาสมุทร อย่างไรก็ตามการสำรวจด้วยเรือดำน้ำอาจใช้ต้นทุนที่มีราคาแพง ล่าสุดบริษัท Advanced Navigation บริษัทด้านเทคโนโลยีเรือดำน้ำในประเทศออสเตรเลียเปิดตัว Hydrus หุ่นยนต์ดำน้ำอัตโนมัติ AUV (Autonomous underwater vehicles) ขนาดเล็ก โดยชูจุดเด่นที่ใช้ต้นทุนและราคาที่ถูกแต่มีประสิทธิภาพในการสำรวจ
หุ่นยนต์ดำน้ำอัตโนมัติ Hydrus ฉีกรูปแบบเดิม ๆ ของหุ่นยนต์ดำน้ำที่มักมีลักษณะเป็นรูปทรงตอร์ปิโดคล้ายเรือดำน้ำขนาดเล็ก โดยทีมงานของบริษัทใช้การออกแบบใหม่ที่คำนึงถึงการใช้งาน การเคลื่อนไหวที่มีความคล่องตัวในทิศทางต่าง ๆ ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมาให้การดำน้ำเข้าสู่พื้นที่แคบ เช่น ซากเรือจมใต้มหาสมุทร
โครงสร้างของหุ่นยนต์มีขนาดกะทัดรัด 470 x 260 x 260 มม. น้ำหนัก 6.7 กิโลกรัม ราคาจำหน่าย 50,000 ดอลลาร์หรือ 1.6 ล้านบาท ด้วยขนาดที่เล็กสามารถบรรทุกลงเรือขนาดเล็กหรือขนย้ายโดยใช้ทีมงานเพียงไม่กี่คน
สำหรับขีดความสามารถของหุ่นยนต์ดำน้ำอัตโนมัติ Hydrus ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ลิเธียม มอเตอร์ไฟฟ้าทำความเร็วสูงสุดใต้น้ำ 4 นอต หรือ 7 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถดำน้ำลึกสูงสุด 3 กิโลเมตร ควบคุมจากระยะไกลสุด 9 กิโลเมตร จากเรือที่ลอยอยู่ผิวน้ำในมหาสมุทร กล้องบันทึกภาพวิดีโอความคมชัด 4K/60fps พร้อมติดตั้งไฟสปอตไลต์ LED ส่องสว่างมากถึง 8 ดวง ความสว่าง 20,000 ลูเมน
จุดแข็งของหุ่นยนต์ดำน้ำอัตโนมัติ Hydrus คือ การระบุตำแหน่งบนผิวน้ำและใต้น้ำ การระบุตำแหน่งบนผิวน้ำเชื่อมต่อระบบ GPS ผ่านดาวเทียม ส่วนการระบุตำแหน่งใต้ผิวน้ำใช้เทคโนโลยีระบบคลื่นเสียงโซนาร์ ตรวจสอบความเร็วและทิศทางการเคลื่อนที่ใต้ผิวน้ำ การติดต่อสื่อสารกับเรือบนผิวน้ำผ่านเทคโนโลยีไร้สาย
นอกจากนี้หุ่นยนต์ดำน้ำอัตโนมัติ Hydru ยังมีการติดตั้งระบบกำหนดตำแหน่งเสียงใต้น้ำแบบเบสไลน์สั้นพิเศษ (USBL) เพิ่มเติมโดยใช้เสียงอะคูสติกบรอดแบนด์สเปรดสเปกตรัมใต้น้ำและเทคโนโลยีการซิงโครไนซ์ระบุตำแหน่งใต้น้ำที่มีความแม่นยำสูง ซึ่งเป็นระบบที่มีความสำคัญมากในกรณีการสำรวจใต้น้ำที่มีความลึก
ที่มาของข้อมูล newatlas.com
ที่มาของรูปภาพ advancednavigation.com
ข่าวแนะนำ
-
จีนทดลองวิ่งรถบรรทุกไร้คนขับ
- 08:11 น.
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67