กระบวนการ "เปลี่ยนหมู่เลือด" เพิ่มความสำเร็จในการปลูกถ่ายอวัยวะ
กระบวนการเปลี่ยนหมู่เลือดในอวัยวะปลูกถ่ายนี้ อาจช่วยชีวิตผู้ป่วยได้อีกหลายร้อยชีวิตเลยทีเดียว
ในการปลูกถ่ายอวัยวะ สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่แพทย์ต้องระวัง คือ ความเข้ากันได้ระหว่างหมู่เลือดของผู้ป่วย และหมู่เลือดในอวัยวะที่นำมาปลูกถ่าย หากได้อวัยวะบริจาคที่มีหมู่เลือดไม่ตรงกับของผู้ป่วยก็จะไม่สามารถปลูกถ่ายอวัยวะนั้นได้
หมู่เลือด หนึ่งในปัญหาของการเลือกอวัยวะปลูกถ่าย
ในประเทศสหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยรอการปลูกถ่ายอวัยวะมากกว่า 1 แสนราย บางรายอาจต้องรออวัยวะที่เข้ากันได้กับร่างกายของพวกเขานานหลายปี ส่งผลให้ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยมักจะ "เสียชีวิต" ก่อนได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่เนื่องจากข้อจำกัดทั้งในเรื่องของจำนวนผู้ที่มาบริจาคอวัยวะ รวมถึงความเข้ากันได้ของผู้ป่วยกับอวัยวะปลูกถ่าย ส่งผลให้ผู้ป่วยจำเป็นต้องรอจนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสมนั่นเอง
หากตัดประเด็นเรื่องจำนวนอวัยวะบริจาคที่มีอยู่อย่างจำกัดออกไป ปัญหาถัดมาคือเรื่องความเข้ากันได้ระหว่างร่างกายผู้ป่วยและอวัยวะบริจาค ซึ่งปัจจัยในความเข้ากันได้อย่างหนึ่งคือหมู่เลือด บ่อยครั้งที่มีอวัยวะบริจาคเข้ามาระบบของโรงพยาบาลหากแต่ไม่สามารถปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยได้ เนื่องจากหมู่เลือดของผู้ป่วยและอวัยวะไม่ตรงกัน
เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ศัลยแพทย์จากมหาวิทยาลัยโตรอนโตจึงคิดค้นวิธี "เปลี่ยนหมู่เลือด" ของอวัยวะบริจาคให้สามารถเข้าได้กับผู้ป่วยทุกคน แม้หมู่เลือดในมนุษย์จะมีอยู่ด้วยกันหลายระบบ แต่ระบบที่มีความสำคัญมากที่สุดคือระบบหมู่เลือด ABO หากสามารถจัดการหมู่เลือดระบบนี้ได้ ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการปลูกถ่ายอวัยวะให้สำเร็จมากขึ้นด้วย
ABO System
ระบบหมู่เลือด ABO เป็นการจำแนกหมู่เลือดโดยอาศัยชนิดของแอนติเจนบนผิวนอกของเม็ดเลือดแดง (Antigen) ซึ่งในทางการแพทย์มีกฎง่าย ๆ สำหรับการให้เลือดในผู้ป่วย คือ สามารถให้เลือดที่มีแอนติบอดี "ไม่ตรงกับ" แอนติบอดีในน้ำเลือดได้
ซึ่งแอนติบอดีคือสารในระบบภูมิคุ้มกันที่ล่องลอยอยู่ในพลาสมาหรือน้ำเลือดของร่างกาย มันมีหน้าที่เข้าจับกับแอนติเจนแปลกปลอม หากแอนติบอดีเจนเข้ากับแอนติเจนที่ลงล็อกกันพอดีมันจะจับกันแน่นจนตกตะกอน นั่นหมายความว่าหากเม็ดเลือดถูกแอนติบอดีจับแน่นจนตกตะกอน เลือดจะไม่สามารถเดินทางไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และอาจร้ายแรงจนทำให้เสียชีวิตได้เลยทีเดียว
ในหมู่เลือดระบบ ABO จะแอนติเจนและแอนติบอดี ดังนี้
- หมู่เลือด A มีแอนติเจน A ที่ผิวเม็ดเลือด และมีแอนติบอดี B ในน้ำเลือด
- หมู่เลือด B มีแอนติเจน B ที่ผิวเม็ดเลือด และมีแอนติบอดี A ในน้ำเลือด
- หมู่เลือด AB มีแอนติเจน A และ B ที่ผิวเม็ดเลือด แต่ไม่มีแอนติบอดีทั้ง A และ B ในน้ำเลือด
- หมู่เลือด O ไม่มีแอนติเจนทั้ง A และ B ที่ผิวเม็ดเลือด แต่มีแอนติบอดีทั้ง A และ B ในน้ำเลือด
จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่าผู้ที่มีหมู่เลือด AB สามารถรับเลือดจากผู้ที่มีหมู่เลือดใดก็ได้ เพราะในน้ำเลือดไม่มีแอนติบอดีที่จะมาทำปฏิกิริยากับเลือดที่รับมา เราเรียกผู้ที่มีหมู่เลือด AB ว่า Universal recipient ในขณะที่ผู้ที่มีหมู่เลือด O จะต้องรับเลือดจากผู้ที่มีหมู่เลือด O ด้วยกันเท่านั้น เพราะในน้ำเลือดมีแอนติบอดีทั้ง A และ B ไม่สามารถรับเลือดที่มีแอนติเจน A หรือ B ได้นั่นเอง แต่เลือดหมู่ O จะสามารถนำไปให้ใครก็ได้ เพราะที่ผิวเม็ดเลือดไม่มีแอนติเจนเลย มันจึงไม่ทำปฏิกิริยากับแอนติบอดีในน้ำเลือดของผู้รับ เราจึงเรียกผู้ที่มีหมู่เลือด O ว่า Universal donor
ด้วยหลักการนี้ ศัลยแพทย์จึงตั้งใจที่จะเปลี่ยนหมู่เลือดในอวัยวะที่ได้รับบริจาคให้กลายเป็นหมู่เลือด O ทั้งหมด เพื่อให้อวัยวะดังกล่าวสามารถนำไปปลูกถ่ายในผู้ป่วยที่มีหมู่เลือดใดก็ได้นั่นเอง
กระบวนการเปลี่ยนหมู่เลือด
ศัลยแพทย์ใช้เอนไซม์ 2 ชนิด ได้แก่ FpGalNAc deacetylase และ FpGalactosaminidase ซึ่งมีฤทธิ์ทำลายแอนติเจนบนผิวเซลล์เม็ดเลือดแดงได้ นั่นหมายความว่าหมู่เลือดในอวัยวะปลูกถ่ายจะถูกเปลี่ยนเป็นหมู่เลือด O หลังได้รับเอนไซม์ 2 ชนิดนี้
ในการทดลองศัลยแพทย์เลือกใช้อวัยวะรับบริจาคเป็นปอดที่มีหมู่เลือด A จำนวน 8 ชุด จากนั้นจึงใส่เอนไซม์ลงไปผสมแทรกซึมในเนื้อปอด ผลปรากฏว่าจำนวนเม็ดเลือดกว่า 97% ถูกเปลี่ยนเป็นหมู่เลือด O ภายในระยะเวลาเพียง 4 ชั่วโมง อีกทั้งยังไม่พบผลข้างเคียงหรือความเป็นพิษต่อเนื้อปอดด้วย
เมื่อได้ปอดที่ถูกเปลี่ยนหมู่เลือดจาก A เป็น O แล้ว ศัลยแพทย์ทดลองนำปอดจำนวน 3 ชุดลงแช่ในพลาสมาที่มีแอนติบอดี A เพื่อจำลองสภาพแวดล้อมเดียวกับการปลูกถ่ายในร่างกาย ผลปรากฏว่าแอนติบอดีในพลาสมาทำลายเซลล์ปอดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และพออนุมานได้ว่าพลาสมาสามารถเข้ากันได้กับปอดปลูกถ่ายนี้
การทดลองนี้มีประโยชน์อย่างมากในการรักษาผู้ป่วยที่รอการปลูกถ่ายอวัยวะ โดยเฉพาะผู้ป่วยหมู่เลือด O ที่ต้องรออวัยวะจากผู้ป่วยหมู่เลือด O ด้วยกันเท่านั้น ซึ่งการเปลี่ยนหมู่เลือดจะช่วยให้แพทย์สามารถนำอวัยวะที่ได้รับบริจาคมาปลูกถ่ายได้ในเวลาอันรวดเร็วขึ้น และนั่นเท่ากับว่าผู้ป่วยก็มีโอกาสได้ออกไปใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ได้รวดเร็วและยาวนานขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม การทดลองนี้ยังเป็นเพียงการทดลองในห้องปฏิบัติการเท่านั้น ยังต้องมีการพัฒนากระบวนการต่าง ๆ ให้มั่นใจเสียก่อนว่าจะสามารถนำมาใช้กับมนุษย์ได้อย่างปลอดภัย ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจมีการประยุกต์ใช้หลักการเดียวกันนี้ ในการเปลี่ยนหมู่เลือดเพื่อนำไปใช้ในการถ่ายเลือด (Blood transfusion) ในผู้ป่วยที่เสียเลือดมาก หรือผู้ป่วยที่มีภาวะซีดจนต้องได้รับการถ่ายเลือด ซึ่งจะช่วยลดปัญหาเลือดในคลังไม่เพียงพอได้อีกด้วย
ข่าวแนะนำ
-
จีนทดลองวิ่งรถบรรทุกไร้คนขับ
- 08:11 น.
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67