นักวิจัยใช้ "ไวรัส" สู้แบคทีเรียดื้อยา จนช่วยชีวิตผู้ป่วยที่ติดเชื้อนาน 700 วันได้สำเร็จ
แบคทีริโอเฟจ ไวรัสก่อโรคในแบคทีเรีย ถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาจนประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรก
เชื้อแบคทีเเรียดื้อยา คือหนึ่งในปัญหาด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่สำคัญ เนื่องจากผู้ป่วยจะมีตัวเลือกในการใช้ยาลดลง ในขณะที่ยาปฏิชีวนะที่มีระดับความแรงสูงขึ้นยิ่งทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงมากขึ้นด้วย ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันจึงพยายามค้นหาวิธีกำจัดเชื้อดื้อยาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
หนึ่งในตัวเลือกที่นักวิทยาศาสตร์นำมาใช้ในการกำจัดเชื้อดื้อยานั้น ไม่ใช่ยาปฏิชีวนะหากแต่เป็นไวรัสชนิดแบคทีริโอเฟจ (Bacteriophage) ซึ่งเป็นไวรัสก่อโรคในแบคทีเรีย แต่โดยปกติแล้วไวรัสชนิดนี้จะก่อโรคในแบคทีเรียบางสายพันธุ์เท่านั้น นักวิทยาศาสตร์จึงนำแบคทีริโอเฟจมาปรับปรุงให้สามารถเข้าจัดการกับเชื้อแบคทีเรียดื้อยาสายพันธุ์ที่ต้องการได้ ด้วยกระบวนการทางพันธุวิศวกรรม ผนวกกับความสามารถในการกลายพันธุ์ของตัวไวรัสเอง
ทฤษฎีการใช้แบคทีริโอเฟจในการต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรียก่อโรคมีมาสักระยะหนึ่งแล้ว เพียงแต่ยังไม่มีการศึกษาผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในมนุษย์ ดังนั้น เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น คณะวิจัยนำโดย เอนาอิส เอสเคนาซี (Anaïs Eskenazi) ได้นำแบคทีริโอเฟจมาใช้รักษาผู้ป่วยหญิงอายุ 30 ปีรายหนึ่งที่มีปัญหาแผลติดเชื้อ ในตำแหน่งของกระดูกหัก ซึ่งใช้เวลารักษาการติดเชื้อนี้มานานกว่า 700 วันแล้วด้วยการทำความสะอาดแผลร่วมกับการใช้ยาปฏิชีวนะ จนกระทั่งเชื้อเกิดการดื้อยาปฏิชีวนะทุกชนิดที่มีอยู่ในโรงพยาบาล
เมื่อไม่มีหนทางรักษาเธอจึงตัดสินใจเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครในการทดลองนี้ จากการวิเคราะห์เชื้อแบคทีเรียที่บริเวณแผลเปิดพบว่าเป็นเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ Klebsiella pneumoniae ซึ่งตัวเชื้อได้พัฒนากลายเป็นเชื้อดื้อยาด้วยการสร้างไบโอฟิล์มเคลือบบริเวณเนื้อเยื่อ ไบโอฟิล์มนี้จะช่วยปกป้องไม่ให้เชื้อถูกทำลายโดยยาปฏิชีวนะ และสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการเจริญเติบโต
นอกจากนี้ ไบโอฟิล์มยังเปรียบเสมือนแหล่งกบดานของเชื้อ ครั้งที่มีการใช้ยาปฏิชีวนะความแรงสูง เชื้อบางส่วนจะเปลี่ยนตนเองให้อยู่ในสภาวะจำศีลภายในไบโอฟิล์ม จนกระทั่งปลอดยาปฏิชีวนะแล้วพวกมันก็จะตื่นแล้วออกมาอาละวาด ส่งผลให้ผู้ป่วยรายนี้มีการติดเชื้อซ้ำไปมาเรื่อย ๆ ไม่หายเสียที
เพื่อรักษาผู้ป่วยรายนี้นักวิจัยนำไวรัสแบคทีริโอเฟจมาฉีดเข้าไปยังเนื้อเยื่อบริเวณแผลเปิด มีจุดประสงค์เพื่อให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายของผู้ป่วยคุ้นชินกับไวรัส เรียกกระบวนการนี้ว่า Desensitization โดยใช้เวลาทั้งสิ้น 6 วัน หลังจากนั้นเมื่อภูมิคุ้มกันในร่างกายเริ่มคุ้นชินและไม่ต่อต้านไวรัสแล้ว นักวิจัยก็สามารถฉีดไวรัสเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วยผ่านหลอดเลือดได้ โดยที่ไวรัสไม่ถูกภูมิคุ้มกันทำลาย
ในระหว่างกายรักษาตลอด 3 เดือน นักวิจัยใช้การฉีดแบคทีริโอเฟจเป็นระยะ ๆ ร่วมกับการให้ยาปฏิชีวนะอย่างต่อเนื่อง ผลปรากฏว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ จนกระทั่งแผลเรื้อรังของเธอสามารถรักษาและปิดลงได้ในที่สุด
นักวิจัยวิเคราะห์ว่าไวรัสแบคทีริโอเฟจนี้ เข้าไปรบกวนการสร้างไบโอฟิล์มของแบคทีเรีย ส่งผลให้เกราะป้องกันอันแข็งแกร่งของเชื้อดื้อยาเหล่านั้นถูกทำลายลงไป ยาปฏิชีวนะจึงเข้าไปทำลายเชื้อแบคทีเรียได้โดยง่าย นอกจากนี้ แบคทีเรียบางส่วนที่ติดเชื้อไวรัสยังถูกไวรัสทำลายจากภายในอีกด้วย ตรงกับสำนวนที่ว่า One-two punch หากจะให้ตีความหมายคงเหมือนสำนวนไทยที่ว่า เคราะห์ซ้ำกรรมซัด เล่นเอาแบคทีเรียดื้อยาไม่มีทางหนีรอดไปได้เลยทีเดียว
สำหรับผู้ป่วยรายนี้หลังจากต้องทนทรมานกับแผลติดเชื้อมานานถึง 798 วัน (รวมระยะเวลารักษาทั้งหมด) ปัจจุบันแผลของเธอหายดีและกำลังฝึกการเคลื่อนไหว เพราะในระหว่างที่มีแผลติดเชื้อเธอต้องนอนอยู่นิ่ง ๆ ราวกับผู้ป่วยติดเตียง นับว่างานวิจัยนี้ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก และเป็นแนวทางสู่การพัฒนาวิธีรักษาเชื้อดื้อยาแบบใหม่ในอนาคตด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Science Alert
ข่าวแนะนำ
-
จีนทดลองวิ่งรถบรรทุกไร้คนขับ
- 08:11 น.
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67