ไทยสะดุ้ง! เปิดประวัติการแบนของ 'ฟีฟ่า' จากการเลือกตั้งนายกฯที่ถูกแทรกแซง
TNNSPORTS ขอย้อนประวัติหลายๆชาติที่เคยถูก ฟีฟ่า สั่งแบนมาแล้ว ในวงการลูกหนัง รวมทั้งเปิดธรรมนูญฟีฟ่า ข้อ 19 อย่างละเอียด
วันนี้ (7 ก.พ. 63) หลังมีประเด็นที่ ฟีฟ่า ส่งหนังสือมาเตือนสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เรื่องการเข้ามาแทรกแซงของบุคคลที่ 3 ในการเลือกตั้งนายกสมาคมฯ ครั้งต่อไป ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง จะสุ่มเสี่ยงต่อการโดนแบน และมีผลรามไปถึงทีมชาติอย่างแน่นอน
วันนี้ TNNSPORTS ขอย้อนประวัติหลายๆชาติที่เคยถูก ฟีฟ่า สั่งแบนมาแล้ว ในวงการลูกหนัง แต่อันดับแรกขอพาไปดูกฏ หรือที่เรียกกันว่า "ธรรมนูญฟีฟ่า" ข้อที่ 19 ว่าด้วยเรื่องความเป็นอิสระของสมาคมฟุตบอลและคณะกรรมการผู้บริหารกันก่อน มีดังต่อไปนี้
1. สมาคมสมาชิกแต่ละประเทศ จะต้องมีอิสระในการบริหารจัดการ โดยไม่ถูกควบคุมโดยบุคคลที่ 3
2. สมากรรมการของแต่ละสมาคมฯ จะต้องผ่านการเลือกตั้ง หรือ แต่งตั้ง ตามกฎระเบียบของสมาคม โดยจะต้องได้รับความอิสระในการเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง เท่านั้น
โดยในช่วงที่ผ่านมา สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า ได้สั่งแบนห้าม สมาคมฟุตบอลในหลายประเทศ ไม่ให้เข้าร่วมการแข่งขันที่ทาง ฟีฟ่า จัดขึ้น เนื่องจากมีการเมืองเข้ามาแทรกแซง และยุ่งวุ่นวายการทำหน้าที่อย่างอิสระของสมาคมฯ
ส่วนประวัติการแบนของฟีฟ่า มีดังต่อไปนี้
ในปี 2016 PSSI หรือ สมาคมฟุตบอลอินโดนีเซีย ได้ถูกสั่งแบนห้ามส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ ที่ ได้รับการรับรองจากฟีฟ่า เป็นเวลา 2 ปี โดยสาเหตุสำคัญคือ
- มีบุคคลที่มีอิทธิพล หรือ กระทรวง หรือ ตัวแทนกระทรวง เข้ามาแทรกแซงการบริหารจัดการองค์กร
- การรับผิดชอบ PSSI ไม่ได้อยู่ในอำนาจของ สมาคมฟุตบอล
- มีการจัดตั้งสมาคมฟุตบอลแยกขึ้นมา เพื่อจัดการแข่งขันลีกภายในประเทศที่ฟีฟ่า ไม่ได้รองรับ
- มีการจัดทีมชาติแยกขึ้นมาอีกทีม และไม่ปล่อยนักเตะทีมชาติอีกชุดเข้ามาร่วมแข่งขัน ในรายการที่ฟีฟ่า รับรอง
- รัฐบาลอินโดนีเซีย เข้ามาแทรกแซงการทำงานของสมาคมฟุตบอล อาทิ การสั่งห้ามแข่งขันลีก จากกระทรวงกีฬาเป็นต้น พร้อมบังคับเรื่องการตัดสินใจ โดยการกระทำทั้งหมด ที่กล่าวมา ผิดมาตราที่ 13 และ 17 ของฟีฟ่า ที่ระบุว่า สมาคมฟุตบอลของประเทศใดๆ จะต้องไม่ถูกแทรกแซงโดยการเมือง
ต่อมาในปี 2017 สมาคมฟุตบอลปากีสถาน ถูกแบน สาเหตุสำคัญคือ
- สมาคมฟุตบอลปากีสถาน ถูกแทรกแซงจากบุคคลที่สามซึ่งเป็นฝ่ายการเมือง
นอกจากนี้ ยังมีประเทศที่เคยโดนแบน โดยมีสาเหตุต่างๆ ดังนี้
- ปี 2004 สหพันธ์ฟุตบอลกรีซ ถูกแบน เมื่อรัฐบาลออกกฏหมายแทรกแซงการบริหารจัดการสมาคมฟุตบอลกรีซ
- ปี 2006 สหพันธ์ฟุตบอลอิหร่าน ถูกแบน เนื่องจากการบริหารงานภายในองค์กรไร้อิสระ และมีการเลือกตั้งภายในองค์กรสหพันธ์ฟุตบอลอิหร่านอย่างไม่เหมาะสม
- ปี 2007 สหพันธ์ฟุตบอลคูเวต ถูกแบนเนื่องจาก รัฐบาลแทรกแซงกระบวนการเลือกตั้งประธานฝ่ายบริหารของสมาคมฟุตบอลคูเวต
- ปี 2009 สหพันธ์ฟุตบอลบรูไน ถูกแบน เนื่องจาก สุลต่านบรูไน และ รัฐบาลแทรกแซงการบริหารของสมาคมฯ โดยใช้อำนาจสั่งให้ยุบสมาคมฯ และ ปฏิรูป
- ปี 2008 สหพันธ์ฟุตบอล เปรู ถูกแบนเนื่องจาก รัฐบาลเปรู แทรกแซงสมาคมฯ และไม่ยอมรับการเลือกตั้งของประธานสหพันธ์ฟุตบอลเปรู
- ปี 2008 สหพันธ์ฟุตบอลซามัว ถูกแบน เนื่องจาก เกิดการบริหารงานที่ทับซ้อนภายในองค์กร
- ปี 2010 สหพันธ์ฟุตบอล ไนจีเรีย ถูกแบน เนื่องจาก รัฐบาลแทรกแซงการบริหารงานของสหพันธ์ หลังไม่พอใจผลงานในฟุตบอลโลกของทีม
- ปี 2008 สหพันธ์ฟุตบอลเอธิโอเปีย ถูกแบน เนื่องจากไม่แก้ไขปัญหาตามธรรมนูญกับฟีฟ่า
- ปี 2009 สหพันธ์ฟุตบอลอิรัก ถูกแบน เนื่องจาก รัฐบาลแทรกแซงการบริหารงานของสหพันธ์ฟุตบอลอิรัก และใช้อำนาจอันมิชอบในการสั่งปลดผู้บริหารบางราย
- ปี 2013 สมาคมฟุตบอลแคเมอรูน ถูกแบน เนื่องจาก รัฐบาลแทรกแซงการทำหน้าที่บริหารงาน และการเลือกตั้งในสมาคมฟุตบอลแคเมอรูน
- ปี 2015 สหพันธ์ฟุตบอล คูเวน ถูกแบน เนื่องจาก รัฐบาลแทรกแซงกระบวนการบริหาร และแก้ไขกฎ ข้อบังคับด้านกีฬาภายในประเทศ ที่ขัดแย้งกับกฎของฟีฟ่า
ทั้งนี้ สำหรับการเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลฯ คนใหม่ จะมีขึ้นในวันที่ 12 ก.พ. 63 นี้ โดยแคนดิเดตตอนนี้ คือ พล.ต.อ. ดร. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เจ้าของตำแหน่งเดิม และ ดร.ภิญโญ นิโรจน์ อดีตอุปนายกฯ สมัยที่ วรวีร์ มะกูดี เป็นนายกสมาคมฯ
สำหรับ ปัจจุบัน “ช้างศึก” ยังคงมีลุ้นผ่านเข้าสู่รอบ 12 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก โซนเอเชีย โดยสถานการณ์ในกลุ่มจี ทีมชาติไทย ยังเหลืออีก 3 เกม คือ เปิดบ้านพบ อินโดนิเซีย ในวันที่ 26 มีนาคม 2563 จากนั้นในวันที่ 4 มิถุนายน 2563 จะบุกไปเยือน ยูเออี และปิดท้ายด้วยเกมเปิดบ้านรับมาเลเซีย วันที่ 9 มิถุนายน 2563
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ฟีฟ่า' ร่อนหนังสือถึงส.บอลไทย ขอให้เลือกตั้งนายกฯตามกฏและข้อบังคับทุกประการ