ชาวเน็ตตะลึง! งูสีฟ้าโผล่ไต้หวัน อ.เจษฎ์ชี้ไม่ได้ตัดต่อเป็น “ทิฟฟานี่บลู” หายาก!
ชาวเน็ตตะลึง! งูสีฟ้าเปล่งประกายโผล่ที่ไต้หวัน ชาวเน็ตสงสัยมีอยู่จริงหรือ อ.เจษฎ์ชี้ไม่ได้ตัดต่อเป็น “ทิฟฟานี่บลู” หายากนานๆจะเจอครั้ง
วันนี้ ( 5 ก.ย. 66 ) เป็นที่ฮือฮากันในโลกโซเชียล เมื่อชาวไต้หวันรายหนึ่งได้โพสต์ภาพ “งูสีฟ้า” พร้อมกับตั้งคำถามว่า งูสีแบบนี้มีอยู่จริงๆหรือ น่าจะเป็นภาพตัดต่อมากกว่า อย่างไรก็ตาม งูดังกล่าวไม่ได้เป็นการตัดต่อแต่อย่างใด แต่เป็นงูสีทิฟฟานี่บลู ที่นานๆจะเจอครั้ง โดย รศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อ.ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้โพสต์ไขข้อสงสัยผ่านเพจส่วนตัวโดยระบุว่า
"งูสีฟ้า มีจริงในธรรมชาติ ไม่ใช่โฟโต้ชอป"
โพสต์ข่าวเกี่ยวกับ "งูสีฟ้า ที่ไต้หวัน" ซึ่งมีคนแชร์และคอมเม้นต์กันในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ว่ามันน่าจะเป็นงูอะไร เป็นงู "ทิฟฟานี่บลู" จริงมั้ย และงูสีฟ้านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
ในข่าวดังกล่าว ระบุว่า "งูถูกพบข้างถนนในไต้หวัน คืองู ทิฟฟานี่บลู เป็นงูหายาก โอกาสผู้พบเห็นน้อย หลายคนให้ฉายา งูนางฟ้า ลงมายังโลก โอกาสหนึ่งในล้าน ที่จะมีผู้พบเห็น ชาวเน็ตบางคนยังอธิบายว่า สาเหตุที่งูตัวนี้ชื่อ "ทิฟฟานี่บลู" จริงๆ แล้วเป็นงูสีเขียว ที่ไม่มีเม็ดสีเหลือง สีเลยผิดเพี้ยน เจ้าหน้าที่ไต้หวันยังบอกว่า งูที่พบในไต้หวัน ในธรรมชาติ เป็นเรื่องดีมาก เพราะงูรักษาสมดุล กินพวกแมลง หอยทาก ที่ระบาด"
แต่บางคนก็คอมเม้นต์ว่า ภาพงูสีฟ้าอย่างนี้ อาจจะเกิดจากการตัดต่อเปลี่ยนสีในคอมพิวเตอร์ ด้วยโปรแกรมพวก Photoshop หรือเปล่า ? ... ซึ่งก็ได้รับคำยืนยันว่า มีผู้พบเห็นงูตัวนี้จริง และมีคลิปที่ถ่ายเวลามันเลื้อยด้วย (ดู https://www.youtube.com/watch?v=loIBDLCyJGI) จึงไม่น่าจะเกิดจากการทำโฟโต้ชอป
งูสีฟ้าที่ไต้หวัน" นี้ น่าจะคล้ายกับที่ในไทยเราก็เคยเจอมาก่อน เมื่อเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2565 ที่ ต.หนองตะไก้ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา พบงูแปลกเป็นงูสีฟ้าสดใส ซึ่งบางคนเชื่อว่าเป็นงูเจ้าที่และพากันขอโชค
ซึ่งตอนนั้น ผมได้อธิบายไปแล้วว่า ดูจากรูปร่างหน้าตาของงูสีฟ้าในข่าว (ไทย) น่าจะเป็นงูในกลุ่มของงูเขียวหางไหม้ (pit viper) และผู้เชี่ยวชาญด้านงูก็ช่วยระบุสปีชีส์ด้วยว่า น่าจะเป็นชนิด Trimeresurus albolabris หรืองูเขียวหางไหม้ท้องเหลือง ที่เกิดความผิดปรกติทางพันธุกรรมบ้าง มีสีแปรผันออกไปบ้าง จนได้เป็นสีแปลกๆ อย่างเช่น สีฟ้า ที่เห็น
ข่าวงูสีฟ้าในไทย เมื่อปี 2565 ได้รับคำอธิบายที่ตรงกัน จากคลิปในเพจ Nick Wildlife ของคุณนิค "นิรุทธ์ ชมงาม" ผู้เชี่ยวชาญเรื่องงู ว่างูสีฟ้าตัวนี้คาดว่าเป็นงูเขียวหางไหม้ชนิดท้องเหลือง ซึ่งปกติ เราจะเห็นลำตัวงูเป็นสีเขียว แต่จริงๆ แล้ว สีเขียวนั้นเกิดจากการผสมสีระหว่างสีเหลืองกับสีฟ้า ซึ่งถ้าบังเอิญสีเหลืองหายไป เราก็จะเห็นงูเขียวหางไหม้ท้องเหลือง กลายเป็นงูสีฟ้า
ประเด็นที่สำคัญคือ ถึงจะเป็นงูที่มีความแปลก มีสีแปรผันไปจนสวยขนาดนี้ แต่ถ้าบังเอิญไปพบเจอ ก็อย่าไปจับไปยุ่งกับมันครับ เพราะถ้ามันเป็นงูพิษ อย่างเช่น งูเขียวหางไหม้ ก็จะเป็นอันตรายได้ เนื่องจากงูเขียวหางไหม้เป็นงูพิษร้ายแรงชนิดหนึ่ง ไม่เหมือนพวกงูเขียวธรรมดา ที่มีพิษอ่อน หรือแทบไม่มีพิษเลย
ย้อนกลับมาที่ "งูทิฟฟานี่บลู ที่ไต้หวัน" นั้น บางท่านในเพจ siamensis.org ดูรูปร่างหน้าตาแล้ว คาดว่าน่าจะเป็นสปีชีส์ Ptyas major หรือ Chinese green snake งูเขียวจีน ซึ่งอยู่ในกลุ่มสกุลเดียวกับ งูสิง ในประเทศไทยเรา (แต่ก็คงต้องรอทางการไต้หวัน ออกมายืนยันกันอีกที)
Ptyas major เป็นงูขนาดกลาง ที่มีตัวเรียวยาว มีความยาวเฉลี่ย 75–90 ซม. แต่บางครั้งอาจโตถึง 120 ซม. สีเขียวสดใสด้านบน เกล็ดท้องมีสีเขียวแกมเหลือง เกล็ดหลังเรียบ ยกเว้นตัวผู้ จะมีแถวเกล็ดกลางหลังหลายแถวที่กระดูกงู หากินเวลากลางวัน และชอบอยู่ตามต้นไม้ในป่าที่ชื้นและพื้นที่การเกษตร นิสัยไม่ดุร้ายและไม่ค่อยกัด สายพันธุ์นี้สามารถพบได้ในภาคกลาง / ใต้ประเทศจีน และฮ่องกง ในไต้หวัน เวียดนามเหนือ ลาว และบังคลาเทศ
ประเด็นที่้น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ แม้ว่า "สีฟ้า" นั้น จะสีที่หาได้ค่อนข้างยากในสัตว์ป่าปรกติตามธรรมชาติ โดยเฉพาะในกลุ่มของสัตว์เลื้อยคลาน เนื่องจากสีฟ้าเป็นสีที่สร้างขึ้นได้ยาก จากการสร้างโครงสร้างพิเศษของผิวหนัง ไม่ใช่การผลิตเม็ดสี (pigment) โดยตรง อย่างเช่น พวกงูส่วนใหญ่มักจะมีสีน้ำตาล ดำ ขาว แทน หรือแดง
แต่ก็มีงูอีกหลายชนิด ที่ปรกติก็มีสีฟ้าอยู่แล้ว และทำให้พวกมันดูโดดเด่นน่าทึ่งทีเดียว คาดกันว่าทั่วโลกน่าจะมีอยู่ประมาณ 50 สปีชีส์ และมีสีฟ้าสีน้ำเงินหลากหลายเฉด ตามชนิดของมัน
โดยการที่พวกมันมีสีฟ้านั้นมักจะสาเหตุ 1 ใน 3 ข้อนี้ คือ เพื่อการสืบพันธุ์ , เพื่อการพรางตัว , และเพื่อการเตือนศัตรู ... นั่นคือ งูบางสปีชีส์มีสีฟ้าสดใส เพื่อดึงดูดให้เกิดการผสมพันธุ์ ในขณะที่บางสปีชีส์อาจจะมีสีน้ำเงินที่ออกเข้มมืดๆ เพื่อการพรางตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม ส่วนสปีชีส์อื่นๆ ที่มีพิษร้ายแรง ก็อาจจะมีสีฟ้าสดแบบ ฟ้าโคบอลต์ เพื่อบอกให้รู้ว่ามันอันตรายนะ
ข้อมูลจาก : Jessada Denduangboripant (อาจารย์เจษฎ์) , 黃忠信
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก 黃忠信