รู้จัก "จุน วนวิทย์" เจ้าของพัดลม "Hatari ฮาตาริ" ผู้บริจาคเงิน 900 ล้านบาทให้ รพ.
"เจ้าของ Hatari" หรือ "จุน วนวิทย์" เป็นใคร มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ถึงบริจาคเงินก้อนโตเพื่อสมทบทุนในโครงการต่างๆ ของโรงพยาบาล
เรียกว่าเป็นที่ฮือฮากันทั่วโลกออนไลน์ เมื่อมีข่าว คุณจุน-คุณสุนทรี วนวิทย์ และครอบครัว เจ้าของธุรกิจ "Hatari" (ฮาตาริ) แบรนด์พัดลมชื่อดังของไทย ร่วมทำบุญด้วยการบริจาคเงินส่วนตัว จำนวน 900 ล้านบาท เพื่อมอบให้กับมูลนิธิรามาธิบดีฯ
โดยได้บริจาคสมทบทุนเพื่อโครงการปรับปรุงอาคารโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี เป็นเงินจำนวน 160,000,000 บาท บริจาคสมทบทุนโครงการศูนย์การแพทย์รามาธิบดีศรีอยุธยา เป็นจำนวนเงิน 300,000,000 บาท และบริจาคสมทบทุนโครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี เป็นจำนวนเงิน 440,000,000 บาท เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565
หลายคนคงอยากรู้จักว่า "เจ้าของ Hatari" หรือ "จุน วนวิทย์" เป็นใคร มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ถึงบริจาคเงินก้อนโตเพื่อสมทบทุนในโครงการต่างๆ ของโรงพยาบาล
ภาพจาก มูลนิธิรามาธิบดี
"จุน วนวิทย์" ผู้ก่อตั้ง "Hatari" (ฮาตาริ) เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พุทธศักราช 2480 ปัจจุบันอายุ 85 ปี ชีวิตในวัยเด็กของ "จุน วนวิทย์" นั้น ไม่ได้ราบรื่นสวยงาม เหมือนดังวันที่เป็นเจ้าของธุรกิจพัดลมฮาตาริ เบอร์ใหญ่ระดับประเทศ เขาไม่ได้เรียนหนังสือในระบบโรงเรียน จึงไม่มีคุณวุฒิทางการศึกษา
แต่เป็นผู้มีความวิริยะอุตสาหะ พยายามขวนขวายแสวงหาความรู้อยู่เป็นนิจ ด้วยจิตใจมุ่งมั่นจะพัฒนาตนเองด้วยความขยันหมั่นเพียร เป็นผลให้มีความรู้แตกฉานในหลายเรื่อง รวมทั้งมีความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถพัฒนาต่อยอดจนประสบความสำเร็จในชีวิต
ทำงานตั้งแต่อายุ 12 ปี เริ่มจากลูกจ้างกวาดพื้น
"จุน วนวิทย์" ได้ศึกษาภาษาไทยด้วยตนเองและศึกษาภาษาจีน จากครูที่สอนพิเศษตามบ้าน จนได้เริ่มทำงานเป็นลูกจ้างกวาดพื้นร้านขายข้าวสาร ส่งออกต่างประเทศ ย่านถนนสี่พระยา กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่มีอายุ 12 ปีเท่านั้น
ต่อมา ได้เปลี่ยนอาชีพตามลำดับ อันประกอบด้วย การเป็นช่างทำทอง , ขับรถโดยสารรับจ้าง , ลูกจ้างร้านทำป้ายพลาสติก , ลูกจ้างโรงกลึง , ช่างทำแม่พิมพ์ สำหรับฉีดชิ้นงานพลาสติก
จากประสบการณ์ของการประกอบอาชีพมาหลากหลาย ประกอบกับเป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์และเห็นช่องทางธุรกิจ จึงได้ออกแบบและผลิตของเล่นเด็กออกจำหน่ายตั้งแต่เมื่ออายุ 28 ปี
ภาพจาก มูลนิธิรามาธิบดี
ที่มาก่อนจะเป็น "Hatari ฮาตาริ"
ด้วยความที่ "จุน วนวิทย์" มีความรู้ทางการฉีดพลาสติกจากการออกแบบผลิตของเล่น ต่อมาจึงเกิดความคิดที่จะทำโครงพัดลมด้วยพลาสติกขึ้น ซึ่งในสมัยนั้นโครงกรอบพัดลมล้วนทำด้วยโลหะอลูมิเนียมทั้งสิ้น และได้เสนอขายชั้นงานให้กับโรงงานผลิตพัดลมที่มีอยู่ในขณะนั้น เป็นผลให้มีการใช้กรอบโครงของพัดลมเป็นพลาสติกโดยแพร่หลายแต่นั้นมา
ต่อมา ได้ไปเรียนรู้การพันมอเตอร์ที่ประเทศไต้หวันแล้วจึงนำมาผลิตพัดลม ที่ใช้ชิ้นส่วนพลาสติกทั้งหมดออกจำหน่ายเป็นของตัวเอง โดยเริ่มแรกใช้ชื่อยี่ห้อ "K" และยี่ห้อ "TORY" ต่อมาเมื่ออายุ 52 ปี จึงได้ผลิตพัดลมยี่ห้อ "ฮาตาริ" ออกจำหน่ายเป็นครั้งแรก
การผลิตสินค้าดังกล่าวนั้น ดำเนินการโดยบริษัทในเครือ "วนวิทย์กรุ๊ป" ได้แก่ บริษัทวนวิทย์แมนูแฟคเจอวิ่ง จำกัด บริษัทฮาตาริอิเลคทริค จำกัด และบริษัทวนวิทย์เมทัลเวิร์ค จำกัด โดยมีนายจุน วนวิทย์ เป็นประธานกรรมการ
ภาพจาก Hatari
นายจุน วนวิทย์ คิดเสมอว่าคนไทยมิได้มีความสามารถด้อยกว่าใคร ไม่ต้องรอให้ชาวต่างชาติเป็นผู้นำและคนไทยเป็นผู้ตามเสมอไป นอกจากนี้ยังได้ใช้กลยุทธ์การบริหารต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเป็นแนวทางการทำงานมาโดยตลอด 2 ประการ คือ "ใช้ต้นทุนเท่าเดิม แต่ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น" และ "ใช้ต้นทุนลดลง แต่ได้ผลผลิตเท่าเดิม" รวมทั้งกำหนดวิสัยทัศน์ของบริษัทในเครือไว้ว่า "ฮาตาริ คือผู้เชี่ยวชาญทางด้านสายลม"
นายจุน วนวิทย์ ได้ใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมารวมกับพรสวรรค์ ในเชิงช่างทำการประดิษฐ์คิดค้น และพัฒนาระบบการผลิตให้มีประสิทธิภาพมาอย่างต่อเนื่อง สามารถลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้อย่างเห็นได้ชัด โดยมิได้ใช้พื้นฐานความรู้จากการเรียนที่ใด ขณะเดียวกันก็ไม่ปฏิเสธเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ได้นำมาผสมผสานอย่างกลมกลืน
ภาพจาก มูลนิธิรามาธิบดี
สำหรับพนักงานนั้น นายจุน วนวิทย์ เป็นผู้ให้โอกาสพนักงานที่ตั้งใจปฏิบัติงาน เมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น จะให้คำชี้แนะและให้ถือว่า "ผิดเป็นครู" ให้เดินหน้าต่อไป ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องท้อถอย พร้อมทั้งให้การจุนเจือครอบครัวของพนักงานด้วยการให้ทุนการศึกษาแก่บุตรและมอบเครื่องอุปโภคให้เป็นประจำทุกปี
ภาพจาก Hatari
ณ วันนี้บริษัทในเครือ "วนวิทย์กรุ๊ป" มีพนักงานกว่า 2,000 คน ส่งผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายทั่วประเทศไทยและต่างประเทศ มีผลประกอบการปีละกว่า 4,000 ล้านบาท มีส่วนแบ่งการตลาดในผลิตภัณฑ์พัดลมในประเทศ ประมาณร้อยละ 80 สามารถลดการนำเข้าพัดลมจากต่างประเทศได้เกือบทั้งหมด
เมื่อประสบความสำเร็จในการงานอาชีพแล้ว นายจุน วนวิทย์ มิได้ลืมตอบแทนสังคม แต่กลับคิดเสมอว่าจะต้องตอบแทนสิ่งที่ดีงามให้แก่สังคม ช่วยเหลือผู้อื่นที่เดือดร้อนหรือด้อยโอกาส ด้วยความบริสุทธิ์ใจ บริจาคทรัพย์สิ่งของให้กับโรงพยาบาลต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ
ภาพจาก ม.แม่ฟ้าหลวง
นอกจากนี้ เมื่อปี 2555 ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ นายจุน วนวิทย์ ได้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบริหารธุรกิจ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไปจากความรู้ ความสามารถและประสบการณ์อันเป็นที่ประจักษ์ ในการเป็นนักประดิษฐ์และนักบริหารที่ประสบความสำเร็จ รวมทั้งการเป็นผู้ที่มีคุณธรรม และอุทิศตนเพื่อสังคมมาอย่างต่อเนื่องด้วย
ข้อมูลจาก ฐานข้อมูลจดหมายเหตุ ม.แม่ฟ้าหลวง
ภาพจาก Hatari , ม.แม่ฟ้าหลวง , มูลนิธิรามาธิบดี