อ.เจษฎ์ตอบให้ ‘ทานส้มตำเยอะๆ ’ ช่วยต้านโควิดได้จริงไหม?
อ.เจษฎ์ไขข้อสงสัยโซเชียลแชร์คลิปหมอ"อย่าลืมกินส้มตำเยอะๆ ในช่วงที่มีโรคโควิด-19 ระบาด จะได้ป้องกันโรคได้”ง่ายขนาดนั้นเลยเหรอ?
วันนี้ ( 16 มิ.ย. 65 )รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ โดยระบุข้อความว่า
“มีการแชร์คลิปวิดีโอของอาจารย์หมอท่านหนึ่ง ที่บอกทำนองว่า "อย่าลืมกินส้มตำเยอะๆ ในช่วงที่มีโรคโควิด-19 ระบาด จะได้ป้องกันโรคได้" .. มันจะง่ายขนาดนี้จริงหรือ ?!
ตามที่อาจารย์หมอพูด ในส้มตำ มีองค์ประกอบคือ มะละกอ มะเขือเทศ น้ำมะขามเปียก กระเทียม ฯลฯ ที่มีสารอาหารซึ่งเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น วิตามินซีที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน เอนไซม์ปาเปนที่ช่วยในการย่อยเนื้อสัตว์ ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม อย่าลืมกันว่า ส้มตำเป็นหนึ่งในอาหารที่ไม่ได้ปรุงสุก ใช้ผักสดผลไม้สด รวมถึงเครื่องปรุงหลายอย่าง เช่น น้ำปลาร้า ปูเค็ม ที่อาจปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค ไม่ว่าจะเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัสก็ตาม ได้มากกว่าอาหารที่ปรุงสุกอย่างอื่น
ดังนั้น ถ้าจะระมัดระวังเรื่องการติดเชื้อโคโรนาไวรัส จากพ่อครัวแม่ครัวที่ประกอบอาหารมาให้เรากินแล้วล่ะก็ ส้มตำเป็นหนึ่งในอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงในช่วงนี้ครับ ... ไม่เช่นนั้น ก็ควรจะมาจากร้านที่เรามั่นใจว่า ทำอย่างถูกสุขอนามัยจริงๆ หรือไม่ก็ทำกินเองกันที่บ้านครับ
ปล. ในคลิป อาจารย์หมอยังบอกว่า ห้ามใส่ผงชูรสในส้มตำด้วย .. ซึ่งก็ถูก ในแง่ที่พยายามจะลดปริมาณของโซเดียมในอาหารอย่างส้มตำ ซึ่งมีโซเดียมสูงอยู่แล้ว ทั้งจากน้ำปลาและกุ้งแห้ง ... แต่อย่าไปรังเกียจผงชูรส ในแง่ที่ว่ามันเป็นสารพิษทำให้เกิดผมร่วงหรือก่อมะเร็งแบบนั้นครับ มันเป็นความเชื่อผิดๆ มาตั้งแต่ในอดีต
ข้อมูลจาก : รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์
ภาพจาก : รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ / TNN ONLINE