แพทย์ผิวหนัง ไขสาเหตุภาวะ "ผมร่วง" หลังการติดเชื้อโควิด-19 แนะ 3 วิธีรักษา
กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง ชี้ภาวะผมร่วงหลังการติดเชื้อโควิด-19 สาเหตุเกิดจากความเครียดและมีการกระตุ้นปฏิกิริยาการอักเสบ ซึ่งส่งผลต่อวงจรชีวิตของผมทำให้วงจรผมมีการเปลี่ยนเร็วกว่าปกติ พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการรักษาที่ถูกวิธี
วันนี้ (18 พ.ย.64) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ภาวะผมร่วงภายหลังการติดเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่เป็นอาการของโรคผมผลัด โดยผู้ป่วยจะมีอาการผมร่วงทั่วศีรษะมากผิดปกติ มากกว่า 100 เส้น/วันแต่ไม่มากเกิน 50% ของผมทั้งศีรษะในระยะเวลา 2-3 เดือน
แต่ในบางรายอาจจะเกิดได้เร็วประมาณหนึ่งเดือนครึ่งภายหลังการติดเชื้อ โควิด-19 ซึ่งค่อนข้างเร็วกว่าภาวะผมผลัดจากสาเหตุอื่น พบว่าผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อโควิด-19 เกิดโรคผมผลัดหลังจากการติดเชื้อประมาณ 25%
โรคผมผลัดอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น เช่น เกิดภายหลังจากมีภาวะป่วยหนัก มีภาวะเครียดมาก การขาดสารอาหาร เป็นโรคไทรอยด์และการรับประทานยาบางอย่าง ดังนั้น ถ้าผู้ป่วยมีประวัติสาเหตุอื่นร่วมด้วย อาจมีความจำเป็นที่จะต้องแยกสาเหตุอื่นร่วมด้วยโดยการตรวจผมและการตรวจเลือด
พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติม ปัจจัยกระตุ้นอื่นนอกเหนือจากภาวะเจ็บป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 ควรจะรักษาร่วมด้วย คือ
1. ถ้าผู้ป่วยเกิดภาวะผมร่วงภายหลังจากมีการติดเชื้อโควิด-19 โดยไม่มีปัจจัยอื่น โดยทั่วไปผู้ป่วยที่มีโรคผมผลัดมักหายได้เองหลังจากสาเหตุหมดไปแล้วประมาณ 2-6 เดือน ในกรณีผู้ป่วยที่เป็นโรคผมผลัดหลังจากการติดเชื้อภายหลังการติดเชื้อโควิด-19 อาจจะหายได้เร็วกว่าที่ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน
2. การพรางผมบาง ช่วยทำให้ภาพลักษณ์ของผู้ป่วยดีขึ้นได้ เช่น ทรงผม, การทำสีผมหรือการใส่วิก
3. การรักษาด้วยยาทาไมน็อกซิดิล อาจแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาทา 5% minoxidil solution วันละ 1-2 ครั้ง หรือ 2% minoxidil solution วันละ 2 ครั้ง เพื่อกระตุ้นผมให้ขึ้นใหม่ โดยอาจเริ่มใช้ตอนที่ผมเริ่มจะหยุดร่วง
การทายานี้อาจทำให้เกิดผมร่วงในช่วงแรกๆ ที่ใช้ยาได้ และยังไม่จำเป็นต้องทายานี้เสมอไปในโรคผมผลัด เนื่องจากในภาวะนี้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นได้เองหลังสาเหตุกระตุ้นหมดไป
ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาที่อาจมีส่วนทำให้ผมร่วง เช่น ยารักษาความดันโลหิตสูงชนิด Beta blockers ยารับประทานวิตามินเอและยากันเลือดแข็งตัว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานยา ในผู้ป่วยที่รับประทานยานี้อยู่แล้วไม่ควรหยุดยาเองควรปรึกษาแพทย์ก่อน
และการรับประทานเหล็กและวิตามิน เช่น สังกะสี ไบโอติน วิตามินดี ยังไม่ได้มีหลักฐานทางการศึกษาชัดเจนว่าจะมีส่วนช่วยรักษาโรคผมผลัดในผู้ป่วยไม่ได้มีภาวะขาดเหล็กหรือวิตามินดังกล่าว หากอาการผมร่วงไม่ดีขึ้นภายในระยะเวลา 3-6 เดือน ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง
ข้อมูลจาก กรมการแพทย์
ภาพจาก TNN ONLINE