สายกางเต็นท์ระวัง!เจอไรกัดป่วย ‘ไข้รากสาดใหญ่’ ปีนี้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย
กรมควบคุมโรคเตือนสายกางเต็นท์รับลมหนาวระวังเจอตัวไรอ่อนกัดป่วย ‘ไข้รากสาดใหญ่’ ปีนี้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย พบผู้ป่วยสูงสุดในภาคเหนือ
วันนี้ ( 16 พ.ย. 64 )จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์ “โรคไข้รากสาดใหญ่” หรือ “โรคสครับไทฟัส” (Scrub typhus) ในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 27 ต.ค. 64 มีรายงานพบผู้ป่วยโรคไข้รากสาดใหญ่ 2,506 ราย พบผู้เสียชีวิต 1 ราย ภาคที่มีจำนวนผู้ป่วยสูงสุด คือ ภาคเหนือ โดยพบว่าเครือข่ายบริการสุขภาพเขต 1 พบผู้ป่วยสูงสุด จำนวน 1,246 ราย
ทั้งนี้พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงปลายฝนต้นหนาวนี้ จะมีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้รากสาดใหญ่เพิ่มขึ้น เนื่องจากช่วงนี้อากาศเริ่มเย็นลง ประชาชนมักเดินทางท่องเที่ยวตามป่าเขาและกางเต็นท์นอนเพื่อสัมผัสอากาศหนาว และยังเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตของเกษตรกร โรคไข้รากสาดใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Orientia tsutsugamushi (โอเรียนเทีย ซูซูกามูชิ) โดยถูกตัวไรอ่อนที่มีเชื้อกัด ซึ่งมีขนาดเล็กมาก และอาศัยอยู่ตามใบไม้ ใบหญ้าใกล้กับพื้นดินที่มีความชื้นแต่ไม่เปียกแฉะ จะเกาะติดไปตามเสื้อผ้าของคนและกัดผิวหนัง
บริเวณที่มักถูกกัดคือ รักแร้ ขาหนีบ รอบเอว หลังถูกกัดประมาณ 10-12 วัน จะแสดงอาการ ได้แก่ ปวดศีรษะ มีไข้ หนาวสั่น ไอ ตาแดง คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยตัว อ่อนเพลีย มีผื่นแดงขนาดเล็กค่อยๆ นูนหรือใหญ่ขึ้น และอาจจะพบแผลคล้ายบุหรี่จี้ (Eschar) แต่จะไม่ปวดและไม่คัน ผู้ป่วยบางรายอาจหายได้เอง บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ เช่น ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองและสมองอักเสบ อาจทำให้เสียชีวิตได้
กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำให้ประชาชนที่เดินทางท่องเที่ยวตั้งแคมป์ กางเต็นท์นอนในป่า หรือไปในพื้นที่เกษตรกรรม ควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด เช่น เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว สวมเสื้อผ้าที่มีสารป้องกันแมลง และทายากันยุง ซึ่งสามารถป้องกันตัวไรอ่อนกัดได้ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในบริเวณที่มีตัวไรอ่อนชุกชุม ไม่ว่าจะเป็นป่าโปร่ง ป่าละเมาะ บริเวณที่มีการปลูกป่าใหม่หรือตั้งรกรากใหม่ ทุ่งหญ้า ชายป่าหรือบริเวณต้นไม้ใหญ่ที่แสงแดดส่องไม่ถึง รวมถึงพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการสัมผัสโรค หลังออกจากพื้นที่เสี่ยงให้อาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย สระผม และนำเสื้อผ้าที่สวมใส่มาซักให้สะอาดด้วยผงซักฟอกเข้มข้น หากมีอาการไข้และอาการข้างต้น ภายใน 2 สัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเข้าป่าให้แพทย์ทราบ เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว ป้องกันการเสียชีวิต สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422”
ข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรค
ภาพจาก : AFP