ทำความรู้จัก "ประกันสังคม" สิทธิพื้นฐานที่ควรรู้
ประกันสังคม เรื่องพื้นฐานทั่วไปที่หลายคนต้องรู้ โดยเฉพาะผู้ที่กำลังจะจบการศึกษาและเริ่มเข้าสู่ชีวิตวัยทำงาน TNN จึงขอนำข้อมูลเรื่องราวพื้นฐานของประกันสังคมมาให้ทุกคนได้เข้าใจกัน
ประกันสังคม คืออะไร
“ประกันสังคม” คือการสร้างหลักประกันในการใช้ชีวิตให้แก่สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อเฉลี่ยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต ชราภาพ ว่างงาน ซึ่งรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่ได้นำระบบประกันสังคมไปใช้เพื่อให้หลักประกันชีวิตแก่ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต โดยหลักประกันสังคมจะมีดังนี้
1. ระบบเฉลี่ยทุกข์ – สุข ระหว่างสมาชิก ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญแก่บุคคลที่ทำงานเป็นลูกจ้าง พนักงานที่มีรายได้และอยู่ในระบบก่อน จากนั้นจึงขยายความคุ้มครองไปสู่ผู้มีรายได้ที่อยู่นอกระบบ หรือที่เรียกว่า แรงงานนอกระบบ
2. ระบบเงินสมทบ เงินสมทบที่ประกันสังคมเก็บสะสมจะเป็นกองทุนให้แก่ผู้ที่นายจ้างและลูกจ้าง หรือที่เรียกว่า ผู้ประกันตน ที่ส่งเงินสมทบ
3. การเก็บเงินสมทบ คือ ภาษีพิเศษซึ่งเรียกเก็บจากบุคคลที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น
สำหรับสมาชิกที่มีรายได้และจ่ายเงินสมทบเข้าสู่กองทุนประกันสังคม ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของสวัสดิการที่ทางรัฐบาลมอบให้แก่ลูกจ้าง โดยทั้งนายจ้างและลูกจ้าง หรือที่เรียกอีกคำหนึ่งว่า ผู้ประกันตน จะต้องส่งเงินสมทบเข้าให้กับกองทุนประกันสังคมตามที่กฎหมายกำหนด โดยสามารถดูข้อมูลของประกันสังคมได้ที่ สำนักงานประกันสังคม
โดยจำนวนเงินที่ต้องส่งประกันสังคมจะขึ้นอยู่กับการคำนวณฐานเงินเดือนของลูกจ้างแต่ละราย ซึ่งจะทำการหักจากฐานเงินเดือน 5% สูงสุดไม่เกิน 750 บาท เพื่อเป็นการนำเงินมาเฉลี่ยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต ชราภาพ ว่างงาน และเงินสงเคราะห์บุตรของประกันสังคม เพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาลหรือมีรายได้อย่างต่อเนื่อง หวังคุ้มครองทั้งระหว่างการทำงานและนอกเหนือเวลาการทำงาน
ผู้ประกันตน คือใคร
ผู้ประกันตน คือ ลูกจ้าง หรือพนักงานที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปี และไม่เกิน 60 ปี ที่ทำงาน และต้องการจ่ายค่าประกันสังคมทุกเดือน ซึ่งสามารถแบ่งประเภทของผู้ประกันตนได้ 3 แบบ คือ
1. ผู้ประกันตน มาตรา 33 ถือเป็นผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้าง พนักงานประจำที่ทำงานในบริษัทต่าง ๆ
2 ผู้ประกันตน มาตรา 39 เป็นผู้ประกันตนแบบสมัครใจ เป็นบุคคลที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างประจำ เป็นลูกจ้างที่ลาออกจากงานและเคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มาก่อนไม่ต่ำกว่า 12 เดือน และลาออกมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 เดือน โดยต้องไม่เป็นบุคคลทุพพลภาพ ซึ่งผู้ประกันตนสามารถสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ได้ภายใน 6 เดือนหลังจากที่มีการแจ้งออกจากงาน
3. ผู้ประกันตนอิสระ มาตรา 40 เป็นผู้ประกันตนที่ทำงานอิสระ ฟรีแลนซ์ที่ไม่เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 มาก่อน
ภาพจาก : Facebook สำนักงานประกันสังคม
ขึ้นทะเบียนประกันสังคมเมื่อไหร่
การขึ้นทะเบียนประกันสังคม นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปจะต้องขึ้นทะเบียนนายจ้างพร้อมกับลูกจ้างภายใน 30 วัน และเมื่อมีการรับลูกจ้างรายใหม่ จะต้องขึ้นทะเบียนลูกจ้างใหม่ภายใน 30 วันเช่นเดียวกัน
การขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน
การขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 39 และ 40 ปัจจุบันสามารถทำได้หลายช่องทาง ทั้งการขึ้นทะเบียนที่สำนักงานประกันสังคมหรือในรูปแบบออนไลน์ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. ผู้ประกันตนมาตรา 33 นายจ้างจะเป็นผู้ขึ้นทะเบียนผ่านทางสำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th
2. ผู้ประกันตนมาตรา 39 ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่สมัครจะเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 เมื่อลาออกจากงานสามารถยื่นแบบฟอร์มขอเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ภายใน 6 เดือนหลังจากวันที่ออกจากงานได้ด้วยตัวเอง โดยกรอกรายละเอียดยื่นผ่านทางไปรษณีย์, E-mail, line ID หรือติดต่อที่สำนักงานประกันสังคมเขตใกล้บ้าน
3. ผู้ประกันตนมาตรา 40 ที่สมัครใจเข้าเป็นผู้ประกันตนและส่งเงินสมทบด้วยตนเอง สามารถเข้าไปกรอกรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th
ขึ้นทะเบียนประกันสังคมแล้วได้อะไรบ้าง
เมื่อลูกจ้างได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนแล้ว ผู้ประกันตนที่เป็นคนไทยจะใช้บัตรประชาชนแทนบัตรประกันสังคม แต่ในส่วนของผู้ประกันตนต่างด้าวจะได้รับบัตรประกันสังคมเพื่อใช้ในการติดต่อกับสำนักงานประกันสังคม รวมถึงจะได้รับสิทธิเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตามที่ระบุไว้ในบัตรรับรองสิทธิตามที่ผู้ประกันตนได้เลือกไว้โดยไว้เสียค่าใช้จ่าย
เงินสมทบประกันสังคม คืออะไร
เงินสมทบประกันสังคม คือเงินที่นายจ้างและลูกจ้างต้องนำส่งเข้ากองทุนประกันสังคมในแต่ละเดือน โดยจะคำนวณจากอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับไม่เกิน 5% และรัฐบาลจะสมทบเข้ากองทุนอีกส่วนหนึ่ง
ใครจะถูกหักเงินสมทบประกันสังคม และหักอย่างไร
ผู้ที่ถูกหักเงินสมทบคือ ลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาล โดยจะมีรายละเอียดการหักเงินสมทบดังนี้
1. ลูกจ้างและนายจ้าง จะถูกหักในอัตราร้อยละ 5 ของค่าจ้าง โดยนายจ้างจะร่วมจ่ายเงินสมทบเท่าจำนวนที่รับจ้างลูกจ้าง คือร้อยละ 5
2. รัฐบาล รัฐบาลจะร่วมจ่ายเงินสมทบในอัตราร้อยละ 2.75
ภาพจาก : เอกสารคู่มือผู้ประกันตน โดยสำนักงานประกันสังคม (เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม)
เพราะอะไรถึงต้องส่งประกันสังคม
ประกันสังคมเปรียบเหมือนหลักประกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในชีวิตคุณ ทั้งการเจ็บป่วย และเหตุอื่น ๆ ที่เราได้กล่าวมาข้างต้น เพราะเมื่อเรามีประกันสังคม ประกันสังคมจะเข้ามาดูแลและทดแทนรายได้ของเรา และยังมีสิทธิประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมายที่ผู้ประกันตนจะได้รับ
ทั้งนี้ ความสำเร็จของการประกันสังคม คือเป้าหมายหลักที่ทำให้การประกันสังคมสามารถครอบคลุมทุกคนในประเทศได้ในอนาคตอย่างสมบูรณ์แบบ
ที่มาข้อมูล : สำนักงานประกันสังคม https://www.sso.go.th/
ที่มาภาพ : สำนักงานประกันสังคม,AFP