TNN ปศุสัตว์ ชี้ "ฝีหนองในเนื้อหมู" เกิดจากการอักเสบ ไม่ใช่โรคติดต่อสู่คน!

TNN

สังคม

ปศุสัตว์ ชี้ "ฝีหนองในเนื้อหมู" เกิดจากการอักเสบ ไม่ใช่โรคติดต่อสู่คน!

ปศุสัตว์ ชี้ ฝีหนองในเนื้อหมู เกิดจากการอักเสบ ไม่ใช่โรคติดต่อสู่คน!

อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผย ฝีหนองในเนื้อหมู เกิดจากการอักเสบไม่ใช่โรคติดต่อสู่คน “เจอแจ้งผู้จำหน่าย” ย้ำอย่าเชื่อสาเหตุจากโรคระบาด

วันนี้ (13 มิ.ย.64) นายสัตวแพทย์ สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า จากข่าวผู้บริโภคพบเนื้อสุกรที่มีความผิดปกติมีลักษณะคล้ายฝีหนองฝังอยู่ในกล้ามเนื้อ สร้างความวิตกกังวลให้แก่ผู้บริโภคถึงความเชื่อมั่นในการบริโภคเนื้อสุกร เนื่องจากมีการกล่าวอ้างว่าเกิดจากสุกรที่ป่วยเป็นโรคระบาดต่างๆ ขอยืนยันว่าการเกิดฝีหนองในกล้ามเนื้อดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการป่วยเป็นโรคระบาดหากแต่เกิดจากการอักเสบ เนื่องจากการฉีดวัคซีนหรือยาเพื่อการรักษาให้แก่สุกร ซึ่งลักษณะการเกิดฝีดังกล่าวเป็นกลไกลปกป้องตัวเองตามธรรมชาติของสัตว์

สาเหตุการอักเสบที่เป็นไปได้มีทั้งจากจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนเข้าไปในกล้ามเนื้อสุกรจากการแทงเข็มฉีดยาที่ไม่สะอาด หรือการอักเสบที่ไม่มีการติดเชื้อ เช่น การแพ้ยาหรือวัคซีนที่ฉีดนั้น ทำให้อักเสบและเกิดการสร้างฝีหุ้มไว้ ฝีหนองที่ฝังในกล้ามเนื้อจึงมิได้เกิดจากการป่วยเป็นโรคระบาดต่างๆ แล้วทำให้เกิดฝีแต่ประการใด

อนึ่ง กรมปศุสัตว์และเครือข่ายพันธมิตรได้ป้องกันและเฝ้าระวังโรคระบาดอันตรายในสุกรมาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าโรคระบาดนั้น จะเกิดเฉพาะในสุกรไม่ติดต่อสู่คนแต่อย่างใด แต่เพื่อสร้างมั่นใจให้กับผู้บริโภค ขอยืนยันว่าไม่มีการนำสุกรที่ป่วยเป็นโรคเข้าผลิตส่งขายให้ผู้บริโภคแน่นอน

ทั้งนี้ ถึงแม้โอกาสเจอฝีหนองจะไม่มากนัก เพราะโรงฆ่าสัตว์มีพนักงานตรวจเนื้อสัตว์ตรวจสอบสุกรทุกตัวทั้งก่อนการฆ่าและตรวจซากหลังการฆ่า รวมทั้งทำหน้าที่ตัดสินซากให้มั่นใจว่าไม่มีการนำสุกรป่วยที่ไม่เหมาะสมต่อการบริโภคหรือพบว่ามีฝีหนองที่บริเวณภายนอกเข้าผลิต หากการตรวจพบบริเวณฝีหนองแค่บางจุดไม่ใหญ่มากนักสามารถตัดเลาะบริเวณที่ได้รับผลกระทบออกไป และพิจารณาเนื้อส่วนที่ดีอื่นๆ ให้เหมาะสมต่อการนำมาบริโภคได้ 

อย่างไรก็ตาม ยังมีโอกาสบางส่วนที่อาจพบก้อนฝีฝังตัวในกล้ามเนื้อชั้นลึก ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบด้วยตาจากภายนอกได้ เช่น บริเวณสันคอที่ใช้เป็นตำแหน่งแทงเข็มโดยทั่วไป ต้องมีการตัดแต่งเป็นเนื้อชิ้นเล็กลงถึงจะพบเจอฝีที่เกิดในสุกรบางตัวได้ ซึ่งถ้าผู้บริโภครายใดซื้อเนื้อสุกรไปจากสถานที่จำหน่ายแล้วพบเจอฝีในเนื้อ ให้ดำเนินการแจ้งผู้ขายหรือสถานที่จำหน่ายที่ซื้อเนื้อสุกรนั้นมาทันที เนื่องจากเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่พึงกระทำได้และผู้จำหน่ายเนื้อดังกล่าวต้องเป็นผู้รับผิดชอบแก้ไขหรือชดเชยให้แก่ผู้บริโภคที่ซื้อไป เพราะเข้าข่ายการจำหน่าย “อาหารไม่บริสุทธิ์”ตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 ผู้จำหน่ายอาจระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ขอเชิญชวนให้ประชาชนเลือกซื้อเนื้อสัตว์และไข่สดจากสถานที่จำหน่ายที่ได้รับรองและแสดงตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” เนื่องจากสามารถมั่นใจสินค้าว่าสอบย้อนแหล่งที่มาได้ มีการคัดกรองลักษณะของเนื้อที่เหมาะสมในการบริโภค ตาม พ.ร.บ. ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 รวมทั้งการปฏิบัติของฟาร์มมาตรฐาน GAP ต้นทางของสัตว์ที่มีสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มดำเนินการควบคุมการฉีดยาและวัคซีนต่างๆ เพื่อลดโอกาสการเกิดฝีหนอง โดยประชาชนผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ กลุ่มควบคุมโรงฆ่าสัตว์ โทร. 02-653-4444 ต่อ 3141

ข่าวแนะนำ