"สุริยะ" คุมเข้มรถขนขยะพิษสั่งเช็กต้นทาง-ปลายทาง
สุริยะ” สั่ง กรมโรงงานอุตสาหกรรมแก้ปัญหาลักลอบทิ้งขยะอิเลคทรอนิสก์ -พาสติก สั่งเช็กต้นทาง-ปลายทาง เล็งตั้งศูนย์ขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตรายติดตามรถขนส่งเรียลไทม์
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การจัดการกากอุตสาหกรรมเป็นภารกิจเร่งด่วนที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการการแก้ไขปัญหากากอุตสาหกรรม เพื่อบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมให้เข้าสู่ระบบตามกฎหมาย ซึ่งปัจจุบัน กรอ. ได้มีระบบฐานข้อมูลและติดตามการขนส่งกากอุตสาหกรรม (GPS) เพื่อติดตามรถขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตรายด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์แบบเรียลไทม์ (Real Time) อยู่แล้ว แต่ยังพบว่ามีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในหลายพื้นที่
ทั้งนี้ได้สั่งการให้ กรอ.เข้มงวดดูแลการกำจัดกากอุตสาหกรรม ขยะพลาสติก ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับประชาชนและสิ่งแวดล้อม โดยให้ตรวจสอบตั้งแต่ต้นทางของโรงงานว่าได้ส่งกากอุตสาหกรรมอันตราย และกากอุตสาหกรรมทั่วไปกำจัดปริมาณเท่าไร และถึงปลายทางเท่ากันหรือไม่ เพื่อป้องกันการลักลอบทิ้งระหว่างขนส่ง
นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า ปกติโรงงานอุตสาหกรรมจะต้องขออนุญาตนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงาน (สก.2) ซึ่งจะทำให้ กรอ. ทราบต้นทาง-ปลายทางของการขนส่งกากอุตสาหกรรมว่ามีจุดหมายปลายทางที่ใด ซึ่งจะเป็นไปตามที่ได้มีการแจ้งการขนส่งไว้ คือทราบว่ามีผู้รับในระบบแต่จะไม่สามารถเช็คในระหว่างทางการขนส่งได้ กรอ.จึงได้นำระบบบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมแบบครบวงจร (E-Fully Manifest) เข้ามาประยุกต์ใช้ ด้วยการเพิ่มระบบ GPS ที่รถขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตรายเพื่อติดตามระหว่างการขนส่ง ทำให้สามารถทราบว่ารถที่ขนส่งกากฯไปยังจุดหมายปลายทางที่ได้แจ้งไว้หรือไม่ หรือมีการออกนอกเส้นทาง โดยเบื้องต้นรถที่ต้องติดตั้งระบบ GPS จะใช้บังคับกับรถที่มีใบอนุญาตมีไว้ครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย (วอ.8) ก่อน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 5,000 คัน จากข้อมูลปี 63
สำหรับการทำงานของระบบจะมีการติดสัญญาณเป็น Code หลักของตัว GPS ที่ขึ้นทะเบียนไว้ โดยทางบริษัทต้นทางที่จะทำการขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตรายจะต้องส่ง Code ให้กับทางฝ่ายสารสนเทศของ กรอ. เพื่อเชื่อมสัญญาณทำให้สามารถติดตามการขนส่งได้ ซึ่งขณะนี้ กรอ. อยู่ระหว่างดำเนินการจัดตั้งศูนย์ติดตามระหว่างการขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตราย
“หลังจากใช้กับรถขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตรายแล้ว ในอนาคตจะนำมาใช้กับการขนส่งกากอุตสาหกรรมทุกชนิด ซึ่งเชื่อว่าภายหลังจากที่ศูนย์ติดตามระหว่างการขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตรายสามารถดำเนินการได้เต็มรูปแบบในปีนี้ จะสามารถรายงานตำแหน่งของรถขนส่ง วันเวลาที่ส่งข้อมูล ข้อมูลของเสียที่จะขนถ่าย ละติจูด ลองติจูด ความเร็ว สถานะเครื่องยนต์ ทิศทางการเดินทาง และยังสามารถติดตามรถขนส่งได้แบบ Real Time ซึ่งจะทำให้ กรอ. สามารถกำกับดูแลการจัดการกากอุตสาหกรรมอันตรายในภาพรวมได้ดียิ่งขึ้น”