ปรับเกณฑ์การเจริญเติบโต เด็กอายุ 6-19 ปี รอบ 25 ปี
กระทรวงสาธารณสุข จัดทำเกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโตของเด็กอายุ 6-19 ปี ชุดใหม่ เพื่อเป็นเกณฑ์อ้างอิงใช้ในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของเด็ก หลังไม่มีการปรับเกณฑ์มากว่า 25 ปี
วันนี้( 4 มี.ค.64) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกัน แถลงข่าวปรับเกณฑ์การเจริญเติบโตของเด็กอายุ6-19 ปีชุดใหม่ เพื่อดูแลติดตามการเจริญเติบโตของเด็ก ส่งเสริมให้เด็กเติบโตเต็มศักยภาพ ให้ถึงเป้าหมาย
เบื้องต้น ตั้งเป้าภายในปี2569 กำหนดส่วนสูงเฉลี่ยของคนไทยที่อายุ 19 ปี ผู้ชายสูง 175 เซนติเมตร ผู้หญิง 162 เซนติเมตรและให้ถึงเป้าหมายอีก 15 ปี ข้างหน้า คือใน ปี 2579 ที่ผู้ชายจะสูง 180 เซนติเมตร ผู้หญิง 170 เซนติเมตร
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้มีการปรับเกณฑ์การเจริญเติบโต เริ่มตั้งแต่ ปี2518 , ปี 2528 ,ปี2538 และล่าสุด ปี2564 คณะกรรมการฯ เห็นว่า ควรต้องมีการปรับเกณฑ์ เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าเด็กมีภาวะเกินเกณฑ์ที่กำหนดในหลายด้าน เช่น เด็กสูงเกินเกณฑ์ เตี้ยเกินเกณฑ์ และ ภาวะอ้วน
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ระบุว่า จากปี 2538 จนถึงปัจจุบัน ไม่ได้มีการปรับเกณฑ์มากว่า25 ปีแล้ว โดยพบว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เด็กมีการเจริญเติบโตได้ดีขึ้น การใช้เกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโต ปี 2538 ที่ใช้อยู่เดิม จะทำให้วิเคราะห์สภาพปัญหาต่ำกว่าความเป็นจริง เด็กสูงตามเกณฑ์มากเกินจริง เด็กเตี้ยน้อยกว่าความเป็นจริง เด็กอ้วน และเนื่องจากเกณฑ์การเจริญเติบโตของเด็กอายุ 5-19 ปี ขององค์การอนามัยโลก พ.ศ. 2550 เก็บข้อมูลจากเด็กอเมริกัน จึงไม่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย
กรมอนามัยได้ทำการ สำรวจ เก็บข้อมูลน้ำหนัก ส่วนสูงและรอบเอว ของเด็กอายุ 4 ปี 6 เดือน - 19 ปี 46,587 คน ระหว่าง พ.ศ. 2558 - 2562 จากสถานศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาล-ระดับอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน เพื่อจัดทำเป็นเกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโตของเด็กอายุ 6 - 19 ปี ชุดใหม่ และส่งมอบข้อมูลชุดดังกล่าวให้กับภาคีเครือข่ายที่ดูแลสุขภาพของเด็กไทย เพื่อร่วมกันลดปัญหาเด็กอ้วน ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกินร้อยละ 10 ซึ่งถือว่า สูงกว่าค่าเป้าหมาย และเด็กเตี้ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกินร้อยละ 5 สูงกว่าค่าเป้าหมาย