TNN มัดรวม สิทธิประโยชน์ "บัตรทอง" คุ้มครองอะไร ใครสมัครได้บ้าง?

TNN

สังคม

มัดรวม สิทธิประโยชน์ "บัตรทอง" คุ้มครองอะไร ใครสมัครได้บ้าง?

มัดรวม สิทธิประโยชน์ บัตรทอง คุ้มครองอะไร ใครสมัครได้บ้าง?

"บัตรทอง" "บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า" หรือ "บัตร 30 บาทรักษาทุกโรค" มีสิทธิประโยชน์คุ้มครองโรคอะไรบ้าง หากจะสมัครต้องทำอย่างไร?

"บัตรทอง" หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ "บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า" หรือ "บัตร 30 บาทรักษาทุกโรค" สุดแท้แล้วแต่ใครจะถนัดเรียกแบบไหน โดยบัตรทอง เป็นสิทธิตามกฎหมายที่รัฐบาลจัดให้คนไทยทุกคนตั้งแต่แรกเกิดและตลอดช่วงชีวิต ซึ่งผู้ใช้บัตรทองจะต้องลงทะเบียนไว้กับสถานพยาบาลที่ตนต้องการเข้ารับการรักษา โดยทั่วไปจะเลือกสถานพยาบาลใกล้บ้าน

  • ใครบ้างมีสิทธิได้รับ "บัตรทอง"

ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรา 5 กำหนดให้ บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติ ซึ่งบุคคลในที่นี้ หมายถึง บุคคลที่มีสัญชาติไทย ดังนั้น ผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือ

- บุคคลที่มีสัญชาติไทย มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก

- ไม่มีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลอื่นใดที่รัฐจัดให้ ได้แก่ สิทธิตามกฏหมายประกันสังคม สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ / พนักงานส่วนท้องถิ่น หรือ สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของหน่วยงานรัฐอื่น ๆ  เช่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน ข้าราชการเมือง

- บุคคลผู้โอนสัญชาติ, แปลงสัญชาติ, โดยมีชื่อในฐานข้อมูลทางทะเบียนราษฎร์และมีเลขบัตรประชาชน 13 หลักก็สามารถติดต่อขอทำบัตรทองได้เช่นเดียวกัน

มัดรวม สิทธิประโยชน์ บัตรทอง คุ้มครองอะไร ใครสมัครได้บ้าง?

  • สิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

- กรณีเจ็บป่วยทั่วไป หมายถึง อาการเจ็บป่วยที่ไม่ใช่อาการฉุกเฉิน สามารถรอรับบริการสาธารณะสุขในเวลาทำการปกติได้ โดยไม่ก่อให้เกิดอาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อน สามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการตามสิทธิ แจ้งการขอใช้ "สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ"

- กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน หมายถึง อาการเจ็บป่วยกะทันหัน เป็นภยันตรายต่อชีวิต ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงพยาบาลตามสิทธิ โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นใน 72 ชั่วโมงแรก ผู้ป่วยไม่ต้องจ่าย แต่ละกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐที่ผู้ป่วยมีสิทธิ จะดำเนินการจ่ายให้โรงพยาบาลตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงแต่ไม่เกินอัตราที่กำหนด

หากเป็นการเข้ารับการรักษาโรงพยาบาลนอกสิทธิ์ที่ตนสังกัดอยู่แล้ว ไม่ใช่ฉุกเฉินวิกฤติ แพทย์ต้องแจ้งให้ผู้ป่วยทราบ หากผู้ป่วยตัดสินใจที่จะรับบริการที่โรงพยาบาลนอกสิทธิ์ แต่ละกองทุนจะจ่ายให้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นไม่ครอบคลุมทั้งหมด หลักเกณฑ์ขึ้นอยู่กับแต่ละกองทุนกำหนด ส่วนที่เหลือผู้ป่วยจะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเอง 

มัดรวม สิทธิประโยชน์ บัตรทอง คุ้มครองอะไร ใครสมัครได้บ้าง?

อย่างไรก็ตาม ก่อนรับบริการ ต้องแนบเอกสารประกอบ ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน หรือเอกสารที่ทางราชการออกให้ ที่มีรูปถ่าย กรณีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่ยังไม่ได้ทำบัตรประจำตัวประชาชน สามารถใช้สูติบัตร แทนได้

  • บริการที่อยู่ในความคุ้มครอง "บัตรทอง"

- ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

- การตรวจรักษาโรคทั่วไป ตั้งแต่โรคทั่วไป เช่น ไข้หวัด จนถึงการรักษาโรคเรื้อรัง หรือโรคเฉพาะทางที่มีค่ารักษาสูง เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคเอดส์ วัณโรค เป็นต้น

- การคลอดบุตร สามารถใช้สิทธิการคลอดบุตรได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง

- บริการทันตกรรม ได้แก่ อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน การให้ฟลูออไรด์เสริมในกลุ่มเสี่ยงต่อโรคฟันผุ การรักษาโพรงประสาทฟันน้ำนม การเคลือบหลุมร่องฟัน ผ่าฟันคุด ใส่เพดานเทียมเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ และการทำฟันปลอมฐานพลาสติก

- ค่ายาตามกรอบบัญชียาหลักแห่งชาติ และยาที่มีมูลค่าสูง โดยอ้างอิงจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

- ค่าห้องทั่วไป และค่าอาหารในช่วงพักฟื้น

- ค่าใช้จ่ายเพื่อการจัดส่งระหว่างพยาบาล

- บริการแพทย์แผนไทยตามข้อบ่งชี้แพทย์ ได้แก่ ยาสมุนไพร หรือ ยาแผนไทย การนวดเพื่อการรักษา การอบหรือประคบสมุนไพรเพื่อการรักษา การฟื้นฟูสุขภาพแม่หลังคลอดบุตร

- บริการฟื้นฟูสมรรถภาพให้แก่คนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู เช่น จิตบำบัด กายภาพบำบัด พฤติกรรมบำบัด กิจกรรมบำบัด ฟื้นฟูการได้ยิน ฟื้นฟูการมองเห็น และรับอุปกรณ์เครื่องช่วยตามประเภทความพิการตามเกณฑ์ที่ สปสช.กำหนดเป็นต้น

(คลิกอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

มัดรวม สิทธิประโยชน์ บัตรทอง คุ้มครองอะไร ใครสมัครได้บ้าง?

นอกจากนี้ ยังได้มีการขยายความคุ้มครอง บัตรทอง ปี 2564 จากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 3 มี.ค.63 อนุมัติงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ปี 2564 รวมทั้งสิ้น 194,508.79 ล้าน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 2.2 % และมีการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ – บริการ ดังนี้

1.เพิ่มวัคซีน “หัด, คางทูม, หัดเยอรมัน” (MMR) ในเด็กอายุ 1 ปี 6 เดือน

2.เพิ่มการคัดกรองภาวะ “ดาวน์ซินโดรม” ให้กับหญิงตั้งครรภ์ทุกกลุ่มอายุ

3.โครงการรับยาใกล้บ้านโมเดล 1-3

4.บริการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ไปยังผู้ป่วยที่บ้าน

5.บริการโทรเวชกรรม (Telemedicine) และ Telehealth

มัดรวม สิทธิประโยชน์ บัตรทอง คุ้มครองอะไร ใครสมัครได้บ้าง?

  • บริการที่ไม่อยู่ในความคุ้มครองของ "บัตรทอง"

1. ภาวะมีบุตรยาก หรือการผสมเทียม

2. การศัลยกรรมความงามที่ไม่มีการบ่งชี้จากแพทย์

3. การดำเนินการใด ๆ ทางการแพทย์โดยปราศจากการบ่งชี้ทางการแพทย์

4. การดำเนินการรักษาด้วยวิธีการหรือขั้นตอนที่ยังเป็นการทดลองอยู่

5. อาการเจ็บป่วยซึ่งเป็นผลจากอุบัติเหตุทางยานพาหนะ แต่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายที่บริษัท หรือกองทุนเป็นผู้จ่าย

6. การรักษา หรือขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่ติดสารเสพติด ยกเว้นกรณีเฉพาะที่ประกาศจาก สปสช.เท่านั้น

7. ผู้ป่วยในที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลมากกว่า 180 วันด้วยโรคเดียวกัน ยกเว้นภาวะแทรกซ้อนที่จำเป็นต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง หรือมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

8. การปลูกถ่ายอวัยวะขึ้นอยู่กับการประกาศ สปสช. เช่น การปลูกถ่ายตับกับเด็กไม่เกิน 18 ปี หรือการปลูกถ่ายไตเพื่อรักษาโรค ไตวายเรื้อรังในระยะสุดท้าย

มัดรวม สิทธิประโยชน์ บัตรทอง คุ้มครองอะไร ใครสมัครได้บ้าง?

  • สมัคร - เช็กสิทธิ บัตรทอง ต้องทำอย่างไร? 

สำหรับประชาชนที่สนใจจะสมัครบัตรทองหรือต้องการเช็กสิทธิบัตรทอง สามารถทำได้ ดังนี้

การสมัคร "บัตรทอง"

ต้องมีหลักฐาน ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน หรือ บัตรประจำตัวที่มีรูปถ่ายซึ่งทางราชการออกให้ , กรณีเด็กต่ำกว่า 7 ปี ใช้สำเนาใบสูติบัตร (ใบเกิด) แทน , ทะเบียนบ้านที่ผู้ขอมีชื่ออยู่ กรณีพักอาศัยอยู่จริงไม่ตรงตามทะเบียนบ้าน จะต้องแนบสำเนาทะเบียนบ้านของบุคคลที่ตนไปพักอาศัยอยู่ พร้อมหนังสือรับรองของเจ้าบ้าน หากเป็นบ้านเช่าหรือหอพักใช้เอกสารหลักฐานอื่น ๆ เช่น สัญญาเช่าที่พัก ใบเสร็จรับเงินค่าเช่าที่พัก ใบเสร็จรับเงินค่าน้ำ ใบเสร็จรับเงินค่าโทรศัพท์บ้าน ที่แสดงว่าผู้ขอลงทะเบียนพักอาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นๆ จริง

สถานที่ติดต่อขอทำบัตรทอง

- พื้นที่ต่างจังหวัด โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 1-12

- พื้นที่กรุงเทพมหานคร สำนักงานเขต 19 แห่ง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กทม.

การเช็กสิทธิ "บัตรทอง"

- ติดต่อด้วยตนเองได้ที่ สำนักงานเขต กทม. (19 เขต) สปสช. เขตพื้นที่ 1-13 โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลของรัฐ

- โทรสายด่วน สปสช. 1330 กด 2 ตามด้วยหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลัก และเครื่องหมาย #

- ทาง Application "สปสช." สามารถดาวน์โหลดฟรี ได้ทั้งระบบ Andriod และ iOS เมื่อลงทะเบียนติดตั้งแอปพลิเคชั่นเรียบร้อย สามารถเข้าใช้งานฟังก์ชั่น ตรวจสอบสิทธิตนเอง และตรวจสอบสิทธิคนในครอบครัวได้ทันที

- ผ่าน Line Official Account สปสช. พิมพ์ค้นหา Line ID @nhso หรือ สแกน QR Code คลิกลิงก์ https://lin.ee/zzn3pU6 เลือกฟังก์ชั่น "ตรวจสอบสิทธิ" และกรอกข้อมูล

- ผ่านทางเว็บไซต์ สปสช. www.nhso.go.th เข้าเมนูประชาชน เลือกหัวข้อ "ตรวจสอบสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" หรือคลิกลิงก์นี้ http://eservices.nhso.go.th/eServices/mobile/login.xhtml

มัดรวม สิทธิประโยชน์ บัตรทอง คุ้มครองอะไร ใครสมัครได้บ้าง?

เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ข่าวแนะนำ