เตือนไทยเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว เชื้อโรคบางชนิดแพร่กระจายได้ง่าย
กรมควบคุมโรคเตือนไทยเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ทำให้เชื้อโรคบางชนิดสามารถแพร่กระจายได้ง่ายกว่าในฤดูกาลอื่น ทั้งโรคหัด โรคปอดอักเสบ โรคไข้หวัดใหญ่
วันนี้ (20ต.ค.62) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวแล้ว ทำให้เชื้อโรคบางชนิดสามารถแพร่กระจายได้ง่ายกว่าในฤดูกาลอื่น ดังนั้น ตนจึงได้ลงนามเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2562 ในประกาศกรมควบคุมโรค เรื่อง การป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่เกิดในช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย พ.ศ. 2562 ซึ่งโรคและภัยสุขภาพที่มีแนวโน้มจะพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในฤดูหนาว แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ 1.โรคติดต่อ ได้แก่ โรคหัด โรคปอดอักเสบ โรคไข้หวัดใหญ่ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัส และโรคมือ เท้า ปาก 2.ภัยสุขภาพ ได้แก่ การเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว การสูดดมก๊าซพิษและขาดอากาศหายใจจากเครื่องทำน้ำอุ่นระบบก๊าซ และการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงอากาศหนาวและหมอกจัด
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สำหรับโรคติดต่อนั้น 1.โรคหัด จะมีอาการคล้ายไข้หวัด หลังมีไข้ 3-4 วัน จะเริ่มมีผื่นนูนแดงขึ้น 1-2 วัน ไข้จะเริ่มลดลง และผื่นจะจางหายไปประมาณ 2 สัปดาห์ โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน 2.โรคไข้หวัดใหญ่ จะมีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก ปวดเมื่อยตามตัว ป้องกันได้โดยการดูแลสุขภาพของตัวเองให้แข็งแรง หากมีอาการแนะนำให้หยุดเรียนหรือหยุดงานทันที และรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา 3.โรคปอดอักเสบ ผู้ป่วยจะมีไข้ หายใจลำบาก หนาวสั่น อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ ป้องกันโดยหลีกเลี่ยงอยู่ในที่ที่มีผู้คนแออัด ล้างมือบ่อย ดื่มน้ำมากๆ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ 4.โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัส จะมีอาการไข้ อาเจียน อุจจาระร่วงอย่างรุนแรง ทำให้เสียน้ำมาก จะรักษาตามอาการ เช่น ยาแก้อาเจียน ยาแก้ปวดท้อง และให้เกลือแร่ทดแทน ป้องกันโดยการรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ดื่มน้ำสะอาด และหมั่นล้างมือบ่อยๆ และ 5.โรคมือ เท้า ปาก พบบ่อยในกลุ่มเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ผู้ป่วยจะมีแผลหรือตุ่มในช่องปาก กระพุ้งแก้ม หรือมีผื่นแดงบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า สำหรับการรักษาจะรักษาตามอาการป่วย ผู้ปกครองและครูจะต้องสังเกตอาการผิดปกติของเด็ก ถ้าพบว่าเด็กมีอาการดังกล่าว ให้แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติทันที
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ส่วนภัยสุขภาพ ได้แก่ 1.การเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว มักเกิดขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว วิธีการป้องกันตนเองจากภัยหนาว คือ ไม่ดื่มสุราและเสพของมึนเมา รักษาร่างกายให้อบอุ่น ดูแลผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว เด็กเล็กอย่างใกล้ชิด จัดหาเสื้อผ้าหรือเครื่องนุ่งห่มกันหนาวและที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม และสังเกตอาการผู้ป่วยหลังกินยารักษาโรคบางชนิดที่มีผลต่อร่างกายในภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำลง 2.การสูดดมก๊าซพิษและขาดอากาศหายใจจากเครื่องทำน้ำอุ่นระบบก๊าซ หากสูดดมเข้าไปในปริมาณมากจะมีอาการวิงเวียน มึนงง หน้ามืด หมดสติ คำแนะนำคือ ให้ตรวจสอบเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สให้ได้มาตรฐานและปลอดภัย มีการติดตั้งพัดลมดูดอากาศ ติดป้ายเตือน และบอกวิธีใช้งาน หากในขณะอาบน้ำแล้วได้กลิ่นแก๊ส ควรรีบออกจากห้องน้ำทันที และ 3.การเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงอากาศหนาวและหมอกจัด การเดินทางในช่วงนี้อาจเจอหมอกลงจัดและทัศนะวิสัยที่ไม่ดี เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนได้ง่าย จึงควรตรวจสอบสภาพอากาศและเส้นทางก่อนเดินทาง หากทัศนะวิสัยไม่ดี หมอกลงจัด ไม่ควรเดินทาง พักผ่อนให้เพียงพอก่อนขับทางไกล ตรวจสอบสภาพเครื่องยนต์ ให้อยู่ในสภาพปลอดภัยและพร้อมใช้งาน และปฏิบัติตามกฎจราจร คาดเข็มขัด และสวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand
ข่าวแนะนำ
-
กทม.เปิดสวน 15 นาทีแล้ว 141 แห่ง
- 11:25 น.