หยุดหัวเราะ-ร้องไห้ไม่ได้! ภาวะ PBA หนึ่งอาการป่วยที่ต้องการความ 'เข้าใจ'
รู้จัก Pseudobulbar affect (PBA) ภาวะควบคุมการหัวเราะไม่ได้ อาการป่วยของตัวร้ายชื่อดังในภาพยนตร์เรื่อง "Joker" จนกลายมาเป็นที่มาของเสียงหัวเราะชวนหลอน!
เรื่องราวของ "โจ๊กเกอร์" (Joker) ที่ถ่ายทอดออกมาจากฝีมือการแสดงของ "วาคีน ฟีนิกซ์" ชายคนหนึ่งที่ต้องเผชิญหน้ากับความโหดร้ายทารุณและสังคมที่เต็มไปด้วยการเหยียดหยาม ต้องเผชิญกับความอ้างว้างจนเปลี่ยนจากคนอ่อนแอกลายเป็นคนโหดเหี้ยม โดยมีเอกลักษณ์ คือ "เสียงหัวเราะชวนหลอน" ที่มาจากอาการป่วยด้วย "ภาวะควบคุมการหัวเราะไม่ได้"
แต่รู้หรือไม่ว่า การหัวเราะแบบโจ๊กเกอร์ เป็นอาการของ Pseudobulbar affect หรือ PBA หรือ ภาวะควบคุมการหัวเราะไม่ได้ ซึ่งจะมีสาเหตุจากอะไร รวมทั้งแตกต่างกับไบโพลาร์หรือซึมเศร้าอย่างไร ติดตามได้...
รู้จัก Pseudobulbar impact ภาวะควบคุมการหัวเราะไม่ได้
Pseudobulbar impact (PBA) เป็นอาการที่เกิดจากตอนที่หัวเราะหรือร้องไห้ไม่สามารถควบคุมได้และไม่เหมาะสม โดยทั่วไปแล้ว Pseudobulbar จะเกิดขึ้นกับคนที่มีอาการทางระบบประสาทหรือการบาดเจ็บบางอย่าง ซึ่งอาจส่งผลต่อวิธีที่สมองควบคุมอารมณ์ จะแสดงความรู้สึกด้วยวิธีที่เกินจริงหรือไม่เหมาะสม เป็นผลให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกอับอาย รวมทั้งยังก่อกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้
อย่างไรก็ตาม หลายคนมักจะเข้าใจผิดว่าเป็นความผิดปกติของอารมณ์ หรือ "ไบโพลาร์" แต่โรคดังกล่าวสามารถรักษาได้ด้วยยา
อาการ PBA
1.มีการร้องไห้หรือหัวเราะรุนแรงควบคุมไม่ได้
2.การร้องไห้หรือหัวเราะนั้นไม่เข้ากับสถานการณ์
3.การแสดงสีหน้าไม่ตรงกับอารมณ์
4.การเป็นอย่างยาวนานเกินกว่าที่คาดไว้
5.อาจเกิดได้หลายครั้งต่อวัน
สาเหตุที่พบเชื่อว่า PBA เกิดจากปัญหาที่สมองส่วนหน้า(Prefrontal contex) พบได้ในโรคต่างๆคือ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความจำเสื่อมและโรคพาร์กินสัน เนื้องอกสมองบางชนิด โรคปลอกประสาทเสื่อม Multiple Sclerosis เป็นต้น
จากข้อมูลพบว่า มีผู้ป่วยเกือบ 2 ล้านคนในสหรัฐอเมริกาที่มีอาการทางระบบประสาทหรือบาดเจ็บสมองบาดแผลที่มีอาการ PBA และมีมากกว่า 7 ล้านคนในสหรัฐอเมริกาเข้าข่ายที่จะเป็น PBA
อัตราของผู้ป่วยทางระบบประสาท ที่มีอาการ PBA
50% โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
จากการสำรวจผู้ป่วย ALS 40 คน พบว่า 50% มีอาการที่อาจเป็น PBA จากข้อมูลนี้ผู้ป่วย ALS เกือบ 15,000 รายในสหรัฐอเมริกามีอาการเข้าข่ายที่จะเป็น PBA
48% ผู้ป่วยมีอาการบาดเจ็บทางสมอง
จากการสำรวจของผู้ป่วยที่บาดเจ็บทางสมอง 326 ราย พบว่า 48% มีอาการที่อาจเป็น PBA จากข้อมูลนี้ผู้ป่วยที่บาดเจ็บทางสมอง มากกว่า 2.5 ล้านคนในสหรัฐอเมริกามีอาการเข้าข่ายที่จะเป็น PBA
46% โรคปลอกประสาทเสื่อม
จากการสำรวจผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อม (Multiple Sclerosis หรือ MS) 504 คน พบว่า 46% มีอาการต่างๆ ที่เข้าข่าย PBA จากข้อมูลนี้ผู้ป่วยโรค MS เกือบ 185,000 คนในสหรัฐอเมริกามีอาการเข้าข่ายที่จะเป็น PBA
39% ผู้ป่วยอัลไซเมอร์
จากการสำรวจผู้ป่วยอัลไซเมอร์ 499 คน พบว่า 39% ที่มีอาการที่อาจเป็น PBA จากข้อมูลนี้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ มากกว่า 2.6 ล้านคนในสหรัฐอเมริกามีอาการเข้าข่ายที่จะเป็น PBA
28% โรคหลอดเลือดสมอง
จากการสำรวจผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง 500 คน พบว่า 28% มีอาการที่อาจเป็น PBA จากข้อมูลนี้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเกือบ 1.5 ล้านคนในสหรัฐอเมริกามีอาการเข้าข่ายที่จะเป็น PBA
24% โรคพาร์กินสัน
จากการสำรวจผู้ป่วยโรคพาร์คินสัน 449 คน พบว่า 24% มีอาการที่อาจเป็น PBA จากข้อมูลนี้ผู้ป่วยพาร์กินสัน 240,000 คนในสหรัฐอเมริกามีอาการเข้าข่ายที่จะเป็น PBA
ความแตกต่างระหว่าง 'PBA' และ 'ซึมเศร้า'
PBA เป็นการแสดงออกทางอารมณ์การร้องไห้หรือการหัวเราะที่เกินความจริงหรือไม่ตรงกับที่คุณรู้สึก แตกต่างจากภาวะซึมเศร้า โดย PBA เกี่ยวข้องกับระบบประสาท ขณะที่ ภาวะซึมเศร้า เกี่ยวข้องกับสภาวะอารมณ์หรือจิตใจของบุคคล ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ผู้ป่วยจะมี PBA และภาวะซึมเศร้าในเวลาเดียวกัน
PBA : มีอาการร้องไห้ หรือ หัวเราะบ่อยๆ
ซึมเศร้า : อาจหรือไม่ได้ร้องไห้ เพราะการร้องไห้ไม่ได้เป็นเครื่องรับรองว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า
PBA : ไม่สามารถควบคุมการหัวเราะหรือร้องไห้ได้
ซึมเศร้า : สามารถควบคุมการร้องไห้ได้
PBA : การหัวเราะหรือร้องไห้ "เกินความจริง" หรือ ไม่ตรงกับ "ความรู้สึก" ที่แท้จริง
ซึมเศร้า : การร้องไห้ตรงกับความรู้สึกที่เกิดขึ้น
PBA : การหัวเราะหรือร้องไห้นานเป็นนาที
ซึมเศร้า : การร้องไห้เป็นส่วนหนึ่งของภาวะซึมเศร้าและอยู่นานหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน
PBA : มีอาการทางระบบประสาท หรือการบาดเจ็บของสมอง
ซึมเศร้า : อาจจะไม่มีอาการทางระบบประสาท หรือการบาดเจ็บของสมอง
ผลกระทบของตอน PBA ที่มากกว่าการร้องไห้และหัวเราะ
อาจทำให้หงุดหงิดเพราะคุณไม่ได้เศร้า หรือสิ่งที่ไม่ตลก เนื่องจากอาการ PBA เกิดขึ้นบ่อยครั้งอันเป็นผลมาจากสภาพระบบประสาทอื่นหรือการบาดเจ็บของสมอง ทำให้สามารถรู้สึกได้ถึงความยากลำบากในการจัดการกับอาการเหล่านี้
หากคิดว่าคุณอาจจะเป็น PBA สามารถเช็กอาการเบื้องต้นได้ที่ https://www.pbainfo.org/pba-quiz
วิธีดูแลตนเองหรือคนที่มีอาการ
1.พูดคุยทำความเข้าในเกี่ยวกับอาการนี้กับครอบครัว เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้พวกเขาประหลาดใจหรือสับสนเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น
2.บันทึกช่วงเวลา อาการลงในไดอารี่
3.พูดคุยกับคนอื่นที่มี PBA และแชร์ข้อมูลกัน เพราะอาจมีเคล็ดลับอื่นๆ ที่อาจช่วยได้
4.เปลี่ยนตำแหน่ง หากรู้สึกว่ากำลังหัวเราะหรือร้องไห้ ให้เปลี่ยนวิธีนั่งหรือยืน
5.หายใจเข้า-ออก ช้าๆ และลึก จนกว่าจะสามารถควบคุมอาการได้
6.ฝึกการผ่อนคลายทุกๆวัน
7.ศิลปะและดนตรีบำบัดเพื่อบรรเทาอาการหรือความรุนแรงของอาการ
วิจารณ์เสียหายจากความไม่รู้! หนึ่งเรื่องราวของผู้ป่วยโรค PBA
เวย์น บี วัย 52 ปี อดีตผู้จัดการฝ่ายไอทีและโลจิสติกส์ รัฐอิลลินอยส์ ได้รับผลกระทบจากโรคหลอดเลือดสมอง ผลที่ตามมาทำให้เขาเป็นโรค PBA ด้วย โดยเวย์นจะร้องไห้อย่างไม่สามารถควบคุมได้ หรือบางครั้งก็จะหัวเราะอย่างบ้าคลั่งในสิ่งที่ไม่ตลกเลย เวย์นไม่สามารถควบคุมการตอบสนองให้เป็นปกติได้ โดยบางครั้งเขาร้องไห้ถ้าเห็นเด็กล้มลงแม้ว่าจะไม่รู้จักเด็กและเห็นได้ชัดว่าเด็กไม่เจ็บ ซึ่งเขามักจะร้องไห้อย่างง่ายดายและบ่อยครั้งกว่าการหัวเราะ
สิ่งที่แย่ไปกว่านั้น ก็คือ เวย์นรู้สึกอับอาย หงุดหงิด และโกรธ เพราะไม่เข้าใจว่าทำไมคนอื่นๆ ถึงขอให้เขาหยุดร้องไห้หรือหัวเราะ แม้แต่คนรอบตัวก็ไม่เข้าใจว่า แท้ที่จริงแล้วนั้น เขาไม่สามารถควบคุมการ้องไห้หรือหัวเราะที่เกิดได้เลย ดังนั้น จึงทำให้คนรอบข้างมักจะวิจารณ์รูปลักษณ์ หรือแสดงความคิดเห็นไม่ดี
ภรรยาของเวย์น เปิดเผยว่า เมื่อเธออยู่กับสามีในขณะที่เกิดอาการที่ควบคุมไม่ได้ เธอจะแก้ปัญหาโดยการอธิบายเหตุผลที่เกิดขึ้นด้วยน้ำเสียงนิ่งๆ เพื่อช่วยให้เวย์นเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งบางครั้งก็ได้ผล และบางครั้งก็ไม่ได้ผลเช่นกัน แต่บ่อยครั้งที่เวย์นจะพยายามหลีกหนีจากสถานการณ์นั้นไปที่ห้องนอน หรือหาสถานที่เงียบสงบและเป็นส่วนตัวที่สามารถนั่งพัก เพื่อขจัดอาการของโรคที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ป่วยโรค PBA ต้องการคือ การให้สาธารณชนรับรู้และ "เข้าใจ" ว่าโรคนี้ไม่สามารถควบคุมอาการร้องไห้หรือหัวเราะได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกอาย หรือต้องการปลีกตัวออกไปอยู่คนเดียว รวมทั้ง ไม่ต้องถูก "รังแก" เหมือนอย่าง "โจ๊กเกอร์" ด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
https://www.pbainfo.org/about-pba
https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/pseudobulbar-affect/symptoms-causes/syc-20353737
https://www.psycom.net/living-with-pseudobulbar-affect
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กินเสี่ยงตาย! ไขอาการ 'แพ้อาหาร' เช็กก่อนเผลอกิน
- ขำ-ไม่ขำ ต้องลอง! สอนเทคนิค 8 ท่าหัวเราะง่ายๆ ประโยชน์เหลือล้น
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand
ข่าวแนะนำ
-
กทม.เปิดสวน 15 นาทีแล้ว 141 แห่ง
- 11:25 น.