กรมลดโลกร้อน ชี้ 10 ภัยจากโลกเดือดในปี 2025 ที่ไม่ควรมองข้าม
กรมลดโลกร้อน ชี้ 10 ภัยจากโลกเดือดในปี 2025 ที่ต้องรับมือ ทั้งมลพิษพลาสติก ภัยพิบัติรุนแรงจากสภาพอากาศสุดขั้ว และความเสี่ยงสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยข้อมูลปี 2025 นับเป็นปีที่มีความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความพยายามระดับโลกในการรักษาสมดุลของธรรมชาติและลดผลกระทบจากกิจกรรมมนุษย์จึงกลายเป็นหัวข้อสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมอุณหภูมิโลกให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย การลดมลพิษจากพลาสติก การเพิ่มการลงทุนในเศรษฐกิจสะอาด การอนุรักษ์ธรรมชาติ รวมถึงการรับมือกับเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว ความมั่นคงทางอาหาร และการย้ายถิ่นฐานที่เกิดจากผลกระทบของสภาพภูมิอากาศ
และ 10 ภัยจากโลกเดือด ที่ไม่ควรมองข้าม ในปี 2025
1.รักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5°C เป้าหมาย “Keep 1.5 Alive” ยังคงสำคัญ โดย COP30 ที่เมืองเบเล็ม ประเทศบราซิล จะเน้นการบรรเทาผลกระทบ และมีความทะเยอทะยานในการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันความเสี่ยงโดยเฉพาะในประเทศที่เป็นเกาะ
2. การลดมลพิษจากพลาสติก : ในปี 2025 มลพิษจากพลาสติกยังคงเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการเจรจาสำคัญที่ปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อปี 2024 ได้เน้นข้อตกลงลดพลาสติกและส่งเสริมทางเลือกที่ยั่งยืน โดยครอบคลุมวงจรชีวิตของพลาสติกทั้งหมด พร้อมปรับปรุงระบบรีไซเคิลและส่งเสริมวัสดุที่ย่อยสลายได้ รวมทั้งการจัดหาเงินทุน
3.การจัดหาเงินทุนเศรษฐกิจสะอาด : เป้าหมายการเงินใหม่ที่ COP29 เรียกร้องระดมทุน 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2035 เพื่อสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน โครงสร้างพื้นฐานสีเขียว และมาตรการการปรับตัวต่อสภาพอากาศ รวมทั้งการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
4.ปกป้องธรรมชาติ : การจัดประชุม COP30 ในป่าอเมซอนย้ำถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ระบบนิเวศและแก้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งมีความสำคัญในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการเจรจาที่กรุงโรมในเดือน ก.พ. ปี 2025 จะเน้นแก้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าและผลกระทบจากกิจกรรมมนุษย์ รวมทั้งปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและฟื้นฟูป่า
5.เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว : ความถี่และความรุนแรงจากเหตุการสภาพอากาศสุดขั้วคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในปี 2025 เช่น คลื่นความร้อนและพายุ ดังนั้นการเสริมระบบเตือนภัยล่วงหน้าและการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติจะเป็นสิ่งสำคัญในการลดผลกระทบ
6.การขาดแคลนน้ำ : พื้นที่แห้งแล้งทั่วโลกจะเผชิญกับวิกฤตการขาดแคลนน้ำอย่างน้ำรุนแรงในปี 2025 ดังนั้นการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและการอนุรักษ์เป็นสิ่งจำเป็น
7.ความมั่นคงทางอาหาร : การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อการเกษตรและการผลิตอาหาร ในปี 2025 อาจต้องเผชิญกับความท้าทายที่เพิ่มขึ้นจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว ดังนั้นการเกษตรยั่งยืน เทคโนโลยีการเกษตรสร้างสรรค์ และความร่วมมือระหว่างประเทศจะช่วยบรรเทาปัญหาความมั่นคงทางอาหาร
8. มหาสมุทรเป็นกรด : CO2 ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความเป็นกรดในมหาสมุทรสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทางทะเล เช่น ปะการัง ในปี 2025 การแก้ไขปัญหานี้มีความสำคัญในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางทะเล และสนับสนุนชุมชนที่พึ่งพาทะเล
9.การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ : ในปี 2025 การอนุรักษ์จะต้องมุ่งเน้นไปที่การปกป้องชนิดพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์ การฟื้นฟูที่อยู่อาศัย และสนับสนุนการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน
10. การย้ายถิ่นฐานจากสภาพภูมิอากาศ : ผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ เช่น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น การขาดแคลนทรัพยากร ทำให้ผู้คนจำเป็นต้องย้ายถิ่นฐาน ดังนั้น ในปี 2025 การสนับสนุนชุมชนที่ถูกย้ายและการจัดการย้ายถิ่นฐานอย่างมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งสำคัญเพื่อความมั่นคงโลก
ข้อมูล : กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
ภาพ : Canva , กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
ข่าวแนะนำ