ทำความรู้จัก "สภาพอากาศเหวี่ยงสุดขั้ว" ทั่วโลกเสี่ยงเกิดแรง เร็ว และบ่อยขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศชวนทำความรู้จัก "สภาพอากาศเหวี่ยงสุดขั้ว" ที่ทำให้ทั่วโลกมีแนวโน้มเสี่ยงเผชิญภัยพิบัติแรง เร็ว และมากขึ้น
ระยะที่ผ่านมาทั่วโลกเผชิญภัยพิบัติธรรมชาติรุนแรง จาก "สภาพอากาศสุดขั้ว" ซึ่งเป็นผลกกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โลกร้อน โลกเดือด ถึงตอนนี้แนวโน้มโลกร้อนรุนแรงขึ้น เราอาจจะต้องทำความรู้จักกับคำใหม่ อย่าง "Weather Whiplash” หรือ สภาพอากาศเหวี่ยงสุดขั้ว ?
โดยรองศาสตราจารย์ ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยรังสิต เผยแพร่ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว #มารู้จัก “Weather Whiplash” สภาพอากาศเหวี่ยงสุดขั้ว #สภาพอากาศเหวี่ยงสุดขั้วมีแนวโน้มมากขึ้น เร็วขึ้น รุนแรงขึ้น ?
สภาพอากาศเหวี่ยงสุดขั้ว หรือ Weather whiplash เป็นเหตุการณ์ที่สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงจากร้อน แล้ง ไปสู่การมีฝนตกหนัก น้ำท่วมรุนแรง หรือเปลี่ยนแปลงในทางกลับกันจากเหตุการณ์ฝนตกหนัก น้ำท่วมรุนแรง ไปสู่ความแห้งแล้ง ในระยะเวลาจำกัด ซึ่งยากต่อการคาดการณ์ ดังนั้นเราจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมทุกปี ไม่ว่าจะเกิด หรือไม่เกิดสภาพอากาศแปรปรวนแบบ El Nino หรือ La Nina ทั้งนี้เนื่องจากอุณหภูมิโลกที่ยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง (ปี 2566 สูงที่สุดตั้งแต่มีการจดบันทึก) ทำให้อัตราการระเหยมากขึ้น ความชื้นสูงขึ้นในชั้นบรรยากาศ (โดยทฤษฎี ทุกๆ 1 oC ที่อุณหภูมิสูงขึ้น จะมีน้ำระเหยสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น 7%) เมื่อโลกเสียสมดุลวัฏจักรน้ำ ย่อมเกิดเหตุการณ์วิกฤตตามมา ?
สภาพอากาศเหวี่ยงสุดขั้วกำลังเกิดขึ้นทั่วโลก กรณีน้ำท่วมสเปน บริเวณภูมิภาคตะวันออกกลางหลายประเทศที่เป็นทะเลทราย และล่าสุดไฟป่าในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย รวมทั้งความหนาวเย็นทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยต้นปี 2566 เผชิญกับความร้อน แล้งส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมอย่างรุนแรง (GDP ภาคเกษตรกรรมติดลบ 6.4%) ต่อมาตั้งแต่ช่วงกลางปีจนถึงปลายปีกลับเกิดฝนตกหนักในรอบกว่า 100-1,000 ปี ในหลายพื้นที่ตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ทำให้เกิดน้ำท่วมครั้งรุนแรง สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า 50,000 ล้านบาท โดยมีผู้เสียชีวิตกว่า 90 คน ?
มีการประเมินสภาพอากาศเหวี่ยงสุดขั้วในอนาคตว่าจะเกิดบ่อยครั้งขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 170 % มีช่วงเวลาที่สั้นลง และมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะไทยเป็นหนึ่งในประเทศจะได้รับผลกระทบที่รุนแรง ดังนั้นการเตรียมความพร้อมทุกภาคส่วนจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
1) การประเมินความเสี่ยง และความรุนแรงจากสภาพอากาศเหวี่ยงสุดขั้วรายละเอียดเชิงพื้นที่
2) การสร้างความเข้าใจ และความตระหนักต่อความเสี่ยง และระดับความรุนแรงเชิงพื้นที่
3) การพัฒนาแผนงาน ฯ โครงการฯป้องกันลดผลกระทบ และการปรับตัว
4) การออกแบบ และประเมินราคาแผนงาน และโครงการฯ
5) การจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน และบรรจุแผนงานฯ เพื่อขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล และหน่วยงานต่างๆ
และ 6) การติดตาม ประเมินสถานการณ์เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการจัดการ
ด้าน ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Sonthi Kotchawat ระบุโลกร้อนขึ้น..ฤดูหนาว..หนาวปากสั่น ส่วนฤดูร้อน..ร้อนเหงื่อตก!
โดยโลกร้อน ทำให้โลกรวน ช่วงฤดูหนาวจะเริ่มปรากฎการณ์ Polar Votex ปล่อยอากาศหนาวเย็นสุดขั้วไปยังประเทศในเขตหนาวและเขตอบอุ่นมากขึ้น ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวเริ่มเกิดขึ้นเมื่อปลายปี2022 และรุนแรงมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปลายปี 2024 ช่วงฤดูหนาวและมวลอากาศเย็นหรือความกดอากาศสูงจะแผ่ลงมาในประเทศในเขตร้อนด้วย (อากาศเย็นเคลื่อนที่ไปยังอากาศร้อน) ประเทศจีนอากาศหนาวจัดขณะนี้จะทำให้ประเทศไทยจะมีอากาศหนาวเย็นผิดปกติด้วย
นักวิทยาศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเชื่อว่าการที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากก่อนยุคปฎิวัติอุตสาหกรรมไปแล้วเมื่อปี 2024 ทำให้กระแสลมกรดหรือลมที่กั้นความเย็นกับอากาศอุ่นใกล้ขั้วโลกหรือ Polar Jet Stream อ่อนกำลังลงทำให้แถบความเย็น หรือ Polar Vortex อ่อนกำลังลงเคลื่อนลงสู่ทิศใต้จากขั้วโลกเหนือ จึงเป็นสาเหตุให้ประเทศจีน มีอากาศหนาวเย็นมากที่สุดในรอบ 30 ปี (Weakened polar vortex seen as likely culprit behind China’s big chill) รวมทั้งการเกิดหิมะ,พายุหิมะอย่างหนักในประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาขณะนี้..มวลอากาศเย็นกำลังแรงจากไซบีเรียและประเทศจีนได้แผ่ลงสู่ประเทศไทยทำให้อากาศหนาวเย็นนานกว่าปรกติในเวลานี้
ทั้งนี้ อุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น จะทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว (Extreme Weather) เกิดขึ้นได้บ่อย ก่อให้เกิดความแปรปรวนของสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง อากาศร้อนจัดและแห้งแล้ง ลมพายุรุนแรงเกิดบ่อยครั้ง ฝนตกหนักกว่าปกติ ฤดูหนาวเกิดอากาศหนาวเย็นอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อน ภัยธรรมชาติจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและบ่อยมากขึ้นเรื่อย ๆ
ดร.สนธิ ยังระบุด้วยว่า ปี 2024 ประเทศไทยอยู่สภาวะลานีญากำลังแรง มีฝนตก น้ำท่วมหนัก แต่ในเดือนเมษายน-พฤษภาคมกลับมีอุณหภูมิสูงสุงถึง 44 องศาฯ ไม่แน่ฤดูว่าร้อนปี2025 ลานีญาอ่อนกำลังลงเข้าสู่ภาวะเป็นกลางระหว่างลานิญาและเอลนีโญ ประเทศไทยอาจร้อนสุดขีดก็ได้
ข้อมูลและภาพ : เฟซบุ๊ก รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ , สนธิ คชวัฒน์ Sonthi Kotchawat
ข่าวแนะนำ