ภาวะ "Conversion Disorder" ความผิดปกติทางร่างกายจากจิตใจ
กรมสุขภาพจิตพาทำความรู้จักภาวะ Conversion Disorder ที่เกิดจากความเครียด ส่งผลกระทบเกิดอาการป่วยทางกาย เปิดปัจจัยเสี่ยง สัญญาณเตือน และแนวทางรับมือ
กรมสุขภาพจิต อธิบายภาวะ Conversion Disorder หรือ "ความผิดปกติทางร่างกายจากจิตใจ" เป็นอาการที่จิตใจเครียด หรือ กดดันมากจนส่งผลกระทบต่อร่างกาย ทำให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น แขนขาอ่อนแรง การชัก หรือสูญเสียการมองเห็นและการได้ยินทั้งที่ตรวจไม่พบโรคทางกาย โดยพบมากในเพศหญิง วัยผู้ใหญ่ตอนต้นถึงวัยกลางคน หรือ อายุ 18-45 ปี โดยเฉพาะคนที่เจอกับความเครียดสะสม เช่นจากการทำงานหนัก หรือ มีปัญหาครอบครัว
ปัจจัยเสี่ยงภาวะ Conversion Disorder
ความเตรียดสูง หรือเหตุการณ์ที่กระทบจิตใจ เช่น การทำงานหนัก หรือปัญหาครอบครัว
สุขภาพจิตที่ไม่ได้รับการดูแล เช่น ความวิตกกังวล หรือ ภาวะซึมเศร้า
ความเครียดที่กดดันในจิตใจ เมื่อรับมือกับปัญหาไม่ได้ ร่างกายอาจแสดงอาการผิดปกติแทน
สัญญาณเตือนที่พบบ่อย ได้แก่ อาการแขนขาอ่อนแรง หรือมีอาการคล้ายลมชัก , การมองเห็นหรือได้ยินลดลง โดยไม่มีเหตุผลทางกาย , การพูด หรือ เดินผิดปกติ เช่น เดินโซเซ , อาการผิดปกติมักเกิดหลังเจอเรื่องเครียด และเมื่อไปตรวจทางการแพทย์ไม่พบความผิดปกติที่สามารถอธิบายอาการได้
แนวทางการรักษา
บำบัดทางจิตวิทยา : ปรับความคิดและพฤติกรรม หรือการบำบัดแบบผ่อนคลาย
การฟื้นฟูทางกายภาพ : กายภาพบำบัด หรือฝึกทักษะชีวิตประจำวัน
การรักษาด้วยยา : ยาต้านซึมเศร้า หรือ ยาลดความวิตกกังวลในบางกรณี ร่วมกับการส่งเสริมการพักผ่อนจัดการกับความเครียด
การดูแลและป้องกัน ทำได้โดยการ จัดการความเครียด เปิดโอกาสให้ระบายความรู้สึก การขอความช่วยเหลือเมื่อจำเป็น และการสร้างสมดุลชีวิตการทำงาน
ทั้งนี้ ความเครียดส่งผลต่อร่างกายได้มากกว่าที่คิด หากเราหรือคนใกล้ชิดมีอาการเข้าข่าย ภาวะ Conversion Disorder ควรรีบปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อป้องกันปัญหาและรักษาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
ข้อมูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
ภาพ ทีมกราฟิก TNN
ข่าวแนะนำ