TNN นักวิจัยใช้ยารักษาผู้ป่วยจิตเวช พัฒนายาบำบัดผู้ติดยาบ้า

TNN

สังคม

นักวิจัยใช้ยารักษาผู้ป่วยจิตเวช พัฒนายาบำบัดผู้ติดยาบ้า

นักวิจัยใช้ยารักษาผู้ป่วยจิตเวช พัฒนายาบำบัดผู้ติดยาบ้า

ป.ป.ส. ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ลงนาม MOU พัฒนายาบำบัดรักษาผู้ติดยาบ้า โดยใช้ยาสำหรับรักษาผู้ป่วยจิตเวช มาทำการวิจัยถึงประสิทธิภาพว่าสามารถใช้ในการรักษาผู้ติดยาบ้าได้เห็นผลมากน้อยแค่ไหน เป็นระยะเวลา 3 ปี จากนั้นจึงจะขึ้นทะเบียนให้เป็นยาสำหรับรักษาผู้ติดยาบ้าโดยเฉพาะ

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ โรงพยาบาลธัญญารักษ์ จ.ขอนแก่น เพื่อพัฒนานวัตกรรมยาช่วยบำบัดรักษาผู้ติดยาบ้า ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ปัญหายาบ้าเป็นวิกฤตสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างรุนแรง ทั้งในด้านค่าใช้จ่ายในการป้องกันและบำบัด ตลอดจนการสูญเสียแรงงานคุณภาพ การบำบัดรักษาผู้ติดยาบ้าในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการที่ได้ผลชัดเจน จึงมีการผลักดันโครงการวิจัยและพัฒนายาช่วยบำบัดรักษาผู้ติดยาบ้า เพื่อสร้างแนวทางที่มีประสิทธิภาพและลดความเสียหายที่เกิดจากการเสพยาบ้า ซึ่งในประเทศไทยพบผู้ใช้ยาเสพติดกว่า 5 แสน คน ในจำนวนนี้หากขึ้นทะเบียนและพัฒนากระบวนการจ่ายยาจะได้รับสิทธิ์เสมอภาคเข้ารับการบำบัดรักษาผ่านตัวยากันทุกคน ทั้งสิทธิประกันสังคมและสิทธิในการรักษา 30 บาท

ด้านนพ.ชาญชัย ธงพานิช ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น ระบุว่า นวัตกรรมยาที่พัฒนานี้มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายอนุพันธ์ของเมทแอมเฟตามีน แต่ไม่ใช่สารแอมเฟตามีน ยาดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อช่วยลดปริมาณการเสพติดยาเสพติด โดยออกฤทธิ์ที่สมองในลักษณะใกล้เคียงกับยาเสพติดบางชนิด แต่มีความปลอดภัยและช่วยลดการอยากยา รวมถึงอาการถอนพิษจากยา ปัจจุบัน ยาชนิดนี้ถูกขึ้นทะเบียนสำหรับการรักษาโรคจิตเวช แต่ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเพื่อใช้รักษาผู้ติดยาเสพติด อย่างไรก็ตาม นักวิจัยกำลังดำเนินการเพื่อขอขึ้นทะเบียนเพิ่มเติม ซึ่งหากสำเร็จ จะช่วยลดต้นทุนการรักษาและทำให้ระบบสาธารณสุขสามารถสนับสนุนการใช้ยาได้อย่างเต็มที่ หากผลการวิจัยยืนยันประสิทธิภาพว่ายาดังกล่าวสามารถทดแทนยาบ้าได้ ก็จะมีการขอขึ้นทะเบียนเป็นยารักษาผู้ติดยาเสพติดโดยเฉพาะ เพื่อเพิ่มทางเลือกในการรักษาและลดผลกระทบจากปัญหายาเสพติดในสังคมต่อไป 

สำหรับการลงนามความร่วมมือนี้ หลักๆ คือ เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของยาโพรพิออน ยาเมอร์เทซาปีน และยาลองแอคติง เมทิลเฟนิเดต โดยเปรียบเทียบกับการรักษาแบบปกติ การวิจัยจะดำเนินการระหว่างเดือนธันวาคม 2567 ถึงพฤศจิกายน 2571 หากผลการวิจัยพบว่ายามีประสิทธิภาพ จะดำเนินการขึ้นทะเบียนและพัฒนากระบวนการเบิกจ่ายยาให้เหมาะสม การพัฒนายาช่วยบำบัดรักษาผู้ติดยาบ้านี้ นอกจากจะช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมแล้ว ยังช่วยลดปัญหาอาชญากรรม และผลกระทบต่อสุขภาพกายและจิตของผู้เสพ ครอบครัว และชุมชน

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง