"Night eating syndrome" กินหนักมื้อดึก เสี่ยงป่วยหลายโรค
ติดกินมื้อดึกจนเป็นนิสัย อาจไม่ใช่กินแค่หิว แต่อาจเป็นสัญญาณป่วยด้วยอาการ Night Eating Syndrome แบบไม่รู้ตัว และสามารถนำไปสู่โรคอื่น ๆ หลายโรค
อาการ Night eating syndrome เป็นพฤติกรรมที่ไม่หิว ไม่ชอบกินอาหารในช่วงกลางวัน แต่กลับรู้สึกหิวมากและกินมากในมื้อดึก บางครั้งถึงขั้นนอนไม่หลับเพราะความหิว จนทำให้ต้องตื่นขึ้นมาหาอะไรกินในเวลาดึก ๆ โดยจะมีพฤติกรรมที่ว่านี้เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง
โดยต้นเหตุของอาการ Night Eating Syndrome ส่วนใหญ่มาจากอาการเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล นอนไม่หลับ รวมถึงพฤติกรรมกินมื้อดึกที่เคยชินไปแล้ว
สัญญาณและพฤติกรรมที่เข้าข่ายอาการ Night Eating Syndrome ก็คือ การไม่หิวในช่วงเช้า กลางวัน และระหว่างวัน แต่กินมากในมื้อดึก , กินมื้อใหญ่หลัง 18.00 น. , สะดุ้งตื่นมากินอาหารมากกว่า 3 ครั้งต่อคืน , นอนไม่หลับ หรือเครียด หากไม่ได้กินมื้อดึก แม้แต่การละเมอกินอาหารกลางดึก
ทั้งนี้ ช่วงเวลาหลัง 17.00 น. เป็นช่วงที่ร่างกายเข้าสู่โหมดผ่อนคลาย และพักผ่อน ระบบต่าง ๆ รวมถึงการเผาผลาญอาหารก็จะลดลง ดังนั้นพฤติกรรมการรับประทานอาหารมื้อดึกบ่อย ๆ ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เป็นต้นเหตุเกิดโรคอื่นตามมา ได้แก่ โรคอ้วน , ท้องอืด ท้องเฟ้อ กรดไหลย้อน , โรคกระเพาะอาหาร , ความดันโลหิตสูง เบาหวาน รวมถึงผลกระทบคุณภาพการนอนแย่จนเหนื่อยล้า ประสิทธิภาพของสมองลดลง และอาจเกิดภาวะซึมเศร้า
วิธีแก้ไขคือต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร และเยียวยาด้านจิตใจ ได้แก่
- พบจิตแพทย์ เพื่อปรับเปลี่ยนความคิด ใช้วิธีการทางจิตวิทยาในการรักษา และบำบัด
- ปรึกษานักโภชนาการ เพื่อปรับพฤติกรรมการกินตามช่วงเวลาได้อย่างเหมาะสม
- หลีกเลี่ยงและจัดการความเครียดแบบถูกวิธี
- รักษาด้วยฮอร์โมน เนื่องจากบางคนมีสาเหตุมาจากฮอร์โมนที่แปรปรวน มีการหลั่งฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนมากจนเกินไป ทำให้ร่างกายต้องการสารอาหารมาทดแทน ทำให้หิวในช่วงเวลาดึก ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์เพื่อแก้ไข และปรับระดับฮอร์โมน
ข้อมูล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.
ภาพ ทีมกราฟิก TNN
ข่าวแนะนำ