TNN สพฉ. ยืนยัน "มูลนิธิเพชรเกษม" ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ลุยเอาผิดฝ่าฝืนเคลื่อนย้ายผู้ป่วย

TNN

สังคม

สพฉ. ยืนยัน "มูลนิธิเพชรเกษม" ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ลุยเอาผิดฝ่าฝืนเคลื่อนย้ายผู้ป่วย

สพฉ. ยืนยัน มูลนิธิเพชรเกษม ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ลุยเอาผิดฝ่าฝืนเคลื่อนย้ายผู้ป่วย

เลขาธิการ สพฉ. แถลงผลสอบ ชี้ชัด "มูลนิธิเพชรเกษม" ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ สพฉ. ไม่มีสิทธิในการปฏิบัติการฉุกเฉินตามกฎหมาย

เรืออากาศเอก นายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) แถลงผลการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณี มูลนิธิเพชรเกษมเชียงใหม่ และมูลนิธิเพชรเกษม กทม. เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลซึ่งไม่มีอำนาจหน้าที่  และไม่ได้รับคำสั่งจากหน่วยปฏิบัติการอำนวยการ ในการเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินจนเกิดเป็นประเด็นร้องเรียน ใน 2 กรณี คือ เหตุการณ์ร้องเรียนจากผู้ป่วยฉุกเฉินว่า มูลนิธิเพชรเกษมเข้ามาประเมินอาการ และนำส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่ไกลจากที่ญาติผู้ป่วยฉุกเฉินแจ้งความประสงค์ที่จะใช้สิทธิรักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด โดยผู้ป่วยมีอาการหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน  ทำให้เสียเวลาในการรักษา  และกรณีเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่  พบว่าอาสาของ “มูลนิธิเพชรเกษมเชียงใหม่”  ใช้รถลักษณะคล้ายรถบริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน  มีการเปิดไฟวับวาบแสงน้ำเงินและแดงเข้าไปรับร่างผู้เสียชีวิต  ซึ่งไฟสัญญาณดังกล่าวจะต้องเป็นรถบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่ได้รับการรับรองจาก สพฉ.เท่านั้น 


นอกจากนี้ สพฉ.ขยายผลไปยังพฤติกรรมอื่น และพบว่า มูลนิธิเพชรเกษม มีพฤติการณ์เข้าไปปฏิบัติการฉุกเฉินให้กับผู้ป่วยหมดสติ ไม่หายใจ  แทนผู้ปฏิบัติการซึ่งได้รับการสั่งการจากหน่วยปฏิบัติการอำนวยการ โดยปรากฎภาพการพยายามทำ CPR  เป็นการปฏิบัติฉุกเฉินโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ และเป็นการปฏิบัติงานซ้ำซ้อนกับหน่วยปฏิบัติการแพทย์ในพื้นที่ที่ทำหน้าที่ เป็นมูลเหตุให้เกิดการทะเลาะวิวาท 


จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่ามูลนิธิเพชรเกษม ที่ปฏิบัติงานใน 2 พื้นที่ ไม่ได้รับการอนุมัติและขึ้นทะเบียนการปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้อง  ดังนั้นการปฏิบัติการที่เกิดขึ้นจึงยังไม่ถือว่าเป็นการปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย  โดยขอชี้แจงว่าหน่วยนอกระบบ หากเป็นการทำหน้าที่จิตอาสาช่วยเหลือ หรือทำหน้าที่แจ้งเหตุนั้นสามารถทำได้  แต่หากมีการปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินตรงนี้ไม่สามารถทำได้  และจากการตรวจสอบมีพฤติการณ์เกี่ยวเนื่องที่มีหลักฐานพอที่จะชี้มูลการกระทำในหลายความผิด  ซึ่งกำลังตรวจสอบรายละเอียด  อาทิ  มีบุคลากร  มีอุปกรณ์  มีระบบสารสนเทศ  ที่ได้มาตรฐานหรือไม่  ซึ่งเมื่อได้รับอนุมัติและขึ้นทะเบียนที่ไหน ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่นั้นไม่สามารถปฏิบัติงานข้ามเขตได้   ซึ่งในพื้นที่ เชียงใหม่ และ กทม. ไม่พบการได้รับอนุมัติและขึ้นทะเบียนของหน่วยดังกล่าว  การฏิบัติการที่เกิดจึงไม่ถือเป็นว่าไปตามมาตรฐาน และสุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน  ในส่วนที่ 2 คือหน่วยที่คอยดูแลผู้ปฏิบัติการ หากมีการปล่อยปละละเลยให้ออกมาทำหน้าที่ก็ต้องมีความผิดด้วย  กระบวนการจากนี้ เมื่อสอบสวนเสร็จ จะนำเรื่องเข้าคณะอนุกรรมการสอบสวนและพิจารณาโทษปรับทางปกครอง ช่วงปลายเดือน ม.ค. จากนั้นนำเข้า กพฉ. ประชุมพิจารณาโทษในการดำเนินการต่อมูลนิธิหรือองค์กรที่ทำไม่ถูกกฎหมาย ในเดือน ก.พ. ดังนั้น สิ้น ก.พ. จะเห็นภาพการลงโทษทางปกครองได้ชัดเจนขึ้น  


เลขาธิการ สพฉ. มองว่าการลงโทษไม่ใช่การแก้ปัญหาเพียงอย่างเดียว การใช้ช่องทางทางรัฐศาสตร์ในการหารือก็เป็นอีกแนวทางที่ สพฉ. กำลังเจรจากับผู้บริหารเพชรเกษม เราอยากให้ทุกฝ่ายไปด้วยกันได้ แต่ต้องเข้ามาอย่างถูกที่ถูกเวลา ปัจจุบันประเทศไทยมี 7 พันกว่าตำบล มีเพียง 3500 ตำบลที่มีหน่วยรับผิดชอบ ที่ว่างอีกครึ่งหนึ่งยังรอการเติมเต็ม บนพื้นฐานของความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง