“จดทะเบียนสมรสเท่าเทียม” เปิดรายละเอียดคุณสมบัติ-จดทะเบียนแล้วมีสิทธิอะไรบ้าง
เปิดรายละเอียด “จดทะเบียนสมรสเท่าเทียม” คุณสมบัติและเอกสารที่ต้องใช้-จดทะเบียนสมรสแล้วมีสิทธิอะไรบ้าง
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานแถลงข่าว “กทม. มั่นใจ พร้อมให้บริการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม” โดย พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร และ คุณอรรณว์ ชุมาพร ผู้จัดงาน Bangkok Pride ร่วมแถลงข่าว
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการแถลงข่าว วันนี้ กทม. ยืนยันความพร้อมจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม ซึ่งจะเป็นวันที่ 22 หรือ 23 มกราคม 2568 ขณะนี้รอกฤษฎีกาตีความอยู่ กทม. เป็นผู้รับจดทะเบียน มีการเตรียมความพร้อมต่าง ๆ มาพอสามควรแล้ว แต่เพื่อป้องกันการติดขัดอยากให้ลงทะเบีนยล่วงหน้าก่อน ซึ่ง กทม. เป็นส่วนเล็ก ๆ ของการเดินทางอันยาวนานของการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม เชื่อในความหลากหลาย อยากให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ต้องโอบกอดเพื่อน ๆ ที่มีความแตกต่างหลากหลายในทุกมิติ
ตั้งแต่เข้ามาเป็นผู้ว่าฯ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 หลังจากนั้นวันที่ 4 มิถุนายน ก็มีไพรด์พาเหรด และมีการส่งเสริมการยอมรับในความหลากหลายทางเพศในที่ทำงาน การจัดไพรด์คลินิก และให้ความรู้ความเข้าใจต่าง ๆ คิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของการก้าวไปด้วยกันทุกคน ขอบคุณที่ทำให้วันนี้เกิดขึ้นได้ กทม. พร้อมจะดำเนินการต่อให้ดีที่สุด
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของ กทม. ว่า เริ่มแรกคือทำความเข้าใจกับผู้มีหน้าที่กับกฎหมายที่เข้ามาใหม่ มีการประสานกับกรมการปกครองเกี่ยวกับระบบที่จะต้องใช้กับการจดทะเบียนสมรสครั้งนี้ มีการเตรียมเอกสาร ที่สำคัญคือบุคคล การทำความเข้าใจกับขั้นตอนระเบียบวิธีการ การทวนสอบเอกสารที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนให้เป็นไปตามเจตนารมย์
ที่สำคัญคือความเข้าใจถึงความละเอียดอ่อนในการสื่อสารถึงความหลากหลายทางเพศ ตอนนี้ 50 สำนักงานเขตมีความพร้อม และเชื่อว่าจังหวัดอื่น ๆ ก็ต้องมีการเตรียมการในลักษณะที่ไม่ต่างกันเช่นกัน ขอให้ลงทะเบียนล่วงหน้า ซึ่งในการลงทะเบียนล่วงหน้าจะแจ้งว่าใช้เอกสารอะไรบ้าง
ตามที่ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2567 ที่เป็นที่รู้จักในชื่อ “สมรสเท่าเทียม” เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้เปิดโอกาสให้การสมรสไม่จำกัดเฉพาะชายและหญิง แต่รองรับการสมรสระหว่างบุคคลทุกเพศ และจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 120 นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ขณะนี้กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีความพร้อมเต็มที่ในการให้บริการกับผู้ที่จะมาจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายดังกล่าว
ซึ่งที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ อาทิ มีการประชาสัมพันธ์การจดทะเบียนสมรสถึงการเตรียมความพร้อมและรายละเอียดสำคัญของการจดทะเบียนสมรสสำหรับคู่รักทุกเทศทุกอัตลักษณ์ทั้ง 50 สำนักงานเขต ที่ผ่านมามีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองสมรสเท่าเทียมที่จัดขึ้นที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน เขตปทุมวัน มีการชี้แจงสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายที่มาพร้อมกับการสมรสเท่าเทียม รวมถึงการลงทะเบียนล่วงหน้า (Pre-register) รวมถึงการอบรม Soft Skill สำหรับเจ้าหน้าที่ 50 สำนักงานเขต ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาทักษะของเจ้าหน้าที่ในการให้บริการที่ครอบคลุมและเคารพความหลากหลายทางเพศ เป็นต้น
อายุเท่าไรจดทะเบียนสมรสได้
ทั้งนี้ ในการจดทะเบียนสมรสนั้น จะทำได้เมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีมีเหตุอันสมควรศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้ กรณีที่ไม่สามารถทำการสมรสได้ คือ
1. บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นบุคคลวิกลจริตหรือเป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ
2. บุคคลสองคนซึ่งเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมา เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา ซึ่งความเป็นญาติดังกล่าวมานี้ให้ถือตามสายโลหิต โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นญาติโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
3. ผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมจะสมรสกันไม่ได้
4. บุคคลที่ยังมีคู่สมรสอยู่
5. หญิงที่ชายผู้เป็นคู่สมรสตายหรือที่การสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่นจะทำการสมรสใหม่กับชายได้ต่อเมื่อการสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน เว้นแต่มีการคลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น หรือสมรสกับคู่สมรสเดิม หรือมีใบรับรองแพทย์ประกาศนียบัตรหรือปริญญาซึ่งเป็นผู้ประกอบการรักษาโรคในสาขาเวชกรรมได้ตามกฎหมายว่ามิได้มีครรภ์หรือมีคำสั่งของศาลให้สมรสได้
6. ผู้เยาว์จะทำการสมรสต้องได้รับความยินยอมจากผู้มีอำนาจให้ความยินยอมได้ตามกฎหมาย
7. การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองคนยินยอมเป็นคู่สมรสกัน และต้องแสดงการยินยอมนั้นให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ด้วย
จดทะเบียนสมรสที่ไหนได้บ้าง
สำหรับสถานที่รับจดทะเบียนสมรส ได้แก่ สำนักทะเบียนอำเภอ สำนักทะเบียนเขต และสถานทูต/กงสุลไทยในต่างประเทศ ทุกแห่ง โดยไม่คำนึงถึงภูมิลำเนาของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยเอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียนสมรส มีดังนี้
1. คนไทยกับคนไทย บัตรประจำตัวประชาชน หรือยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน ThaiD
2. คนไทยกับคนต่างชาติ บัตรประจำตัวประชาชนคนไทย หรือยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน ThaiD หนังสือเดินทางคนต่างชาติ หนังสือรับรองสถานภาพการสมรสที่แสดงว่าไม่มีคู่สมรสในขณะที่ จะจดสมรส
3. คนต่างชาติกับคนต่างชาติ หนังสือเดินทาง และหนังสือรับรองสถานภาพการสมรสที่แสดงว่าไม่มีคู่สมรสในขณะที่จะจดสมรส โดยการจดทะเบียนสมรสทั้ง 3 แบบ จะต้องมีพยาน 2 คน ซึ่งเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะ
กรณีผู้สมรส มีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์แต่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องมีหนังสือยินยอมจากผู้มีอำนาจปกครองของผู้เยาว์ด้วย ไม่สามารถมายินยอมต่อหน้าเจ้าหน้าที่ได้ หากมีสัญญาก่อนสมรสให้นำมาแสดงด้วย กรณีเอกสารเป็นภาษาต่างประเทศต้องแปลเป็นภาษาไทยและผ่านการรับรองนิติกรณ์เอกสารตามขั้นตอนของกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ
จะจดทะเบียนสมรสต้องทำอย่างไรบ้าง
ขั้นตอนการจดทะเบียนสมรส มีดังนี้
1. ผู้ร้อง ยื่นคำร้อง คร.1 ต่อนายทะเบียน
2. นายทะเบียนตรวจสอบคุณสมบัติตามเงื่อนไขแห่งกฎหมาย หลักฐานที่เกี่ยวข้อง แล้วลงรายการในทะเบียนให้ครบถ้วน
3. ผู้ร้อง ผู้ให้ความยินยอม (ถ้ามี) และพยานลงลายมือชื่อในทะเบียนครอบครัว
4. เมื่อเห็นว่าถูกต้องให้นายทะเบียนลงลายมือชื่อในทะเบียนครอบครัวและจัดเก็บข้อมูลดังกล่าวไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ โดยระยะเวลาที่ใช้ในการจดทะเบียนสมรส ประมาณ 20 – 30 นาที
ทั้งนี้ จะขึ้นอยู่กับการลงรายละเอียดของสัญญาก่อนสมรสว่าผู้ร้องทั้งสองฝ่ายจะให้มีการบันทึกมากน้อยเพียงใด
จดทะเบียนสมรสมีค่าธรรมเนียมหรือเปล่า
กรณีจดทะเบียนสมรสในสำนักทะเบียน ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ส่วนการจดทะเบียนสมรสนอกสำนักทะเบียน เสียค่าธรรมเนียมฉบับละ 200 บาท โดยผู้ขอต้องจัดยานพาหนะให้นายทะเบียนด้วย ถ้าหากผู้ขอไม่จัดพาหนะให้ ผู้ขอต้องชดใช้ค่าพาหนะให้แก่นายทะเบียนตามสมควร สำหรับการจดทะเบียนสมรส ณ สถานที่สมรส ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอนุมัติให้มีขึ้น เสียค่าธรรมเนียมฉบับละ 20 บาท และการคัดสำเนา ค่าธรรมเนียมฉบับละ 10 บาท
จดทะเบียนสมรสแล้วมีสิทธิอะไรบ้าง
- คู่สมรสมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน
- คู่สมรสมีสิทธิในการใช้ชื่อสกุลของคู่สมรสอีกฝ่าย
- มีสิทธิจัดการทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส หรือที่เรียกว่าสินสมรสร่วมกัน
- มีสิทธิรับมรดกของคู่สมรสเมื่ออีกฝ่ายเสียชีวิตไปก่อน มีสิทธิรับเงินจากทางราชการ หรือนายจ้าง เช่น กรณีที่คู่สมรสตายเพราะปฏิบัติหน้าที่ หรือจากการทำงาน (บำเหน็จตกทอด) หรือ การรับเงินสงเคราะห์บุตรตามกฎหมายแรงงาน
- มีสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหรือค่าทดแทนจากผู้ที่ทำให้คู่สมรสของตัวเองเสียชีวิตได้
- สามารถเรียกร้องสิทธิของตัวเองได้ตามกฎหมาย เมื่อพบว่าคู่สมรสมีชู้ ก็สามารถเรียกค่าเสียหายได้ทั้งจากคู่สมรสและชู้
- ได้รับการลดหย่อนค่าภาษีเงินได้ตามเงื่อนไขการลดหย่อนภาษี
- คู่สมรสที่ทำความผิดระหว่างกัน เช่น สามีขโมยเงินภรรยา ภรรยาบุกเข้าบ้านสามี ผู้ที่ทำผิดไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย
- การจดทะเบียนสมรสทำให้คู่สมรสฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ที่ทำร้ายคู่สมรสของตัวเองได้ เช่น หากคู่สมรสฝ่ายหนึ่งถูกโจรปล้น คู่สมรสอีกฝ่ายก็สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีแทนได้
ภาพจาก AFP / กรุงเทพมหานคร
ข่าวแนะนำ