TNN ทำฝนหลวงเจาะชั้นบรรยากาศ ระบายฝุ่น PM2.5

TNN

สังคม

ทำฝนหลวงเจาะชั้นบรรยากาศ ระบายฝุ่น PM2.5

ทำฝนหลวงเจาะชั้นบรรยากาศ ระบายฝุ่น PM2.5

กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการเจาะชั้นบรรยากาศโดยใช้น้ำแข็งแห้งผสมน้ำขึ้นไปโปรยบนชั้นบรรยากาศผกผันที่มีความร้อน เพื่อเจาะเปิดช่องระบายฝุ่น PM 2.5 ให้อากาศถ่ายเท ฝุ่นสามารถระบายขึ้นสู่ท้องฟ้าได้ดี โดยในระยะเวลากว่า 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาของปฏิบัติการเจาะชั้นบรรยากาศลดฝุ่น สามารถแก้ฝุ่น PM 2.5 ได้ลดลงถึงร้อยละ 50 ขณะเดียวกันได้ทำเรื่องของบประมาณเพื่อตั้งโรงงานผลิตน้ำแข็งแห้ง นำมาใช้สนับสนุนภารกิจแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในวงเงิน 350 ล้านบาท

นายราเชน ศิลปะรายะ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว TNN ช่อง 16 ถึงปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ว่า กรมฝนหลวงฯได้ใช้แนวทางแก้ปัญหาโดยใช้สารทำฝนหลวงสูตร 3 คือ นำน้ำแข็งแห้ง ผสมกับน้ำ เพื่อทำความเย็นแล้วนำขึ้นไปโปรยบนชั้นบรรยากาศที่ผกผัน ซึ่งนักวิจัยของกรมฝนหลวงพบว่าบนชั้นบรรยากาศที่ผกผันจะมีฟิล์มความร้อนปิดกั้นการระบายฝุ่นอยู่ จึงต้องใช้ความเย็นขึ้นไปลดอุณภูมิหรือเรียกว่า ใช้น้ำแข็งแห้งผสมน้ำขึ้นโปรยเจาะชั้นบรรยากาศ เพื่อเปิดช่องว่างให้มีพื้นที่สำหรับระบายอากาศ ระบายฝุ่น PM 2.5 ขึ้นสู่ด้านบนให้อากาศถ่ายเทขึ้น 


ทั้งนี้ กรมฝนหลวงได้เริ่มขึ้นบินเจาะชั้นบรรยากาศแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล มาตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งกว่า 1 สัปดาห์ สามารถแก้ปัญหาฝุ่นลดลงได้ร้อยละ 50 แทบจะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนแล้ว โดยการแก้ปัญหาฝุ่นด้วยวิธีใช้สารฝนหลวงสูตร 3 นี้ นักวิจัยของกรมฝนหลวงฯปฏิบัติต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 แล้ว ทำควบคู่กับการก่อเมฆขึ้นมาเพื่อดูดฝุ่น คือ ขึ้นไปสร้างเมฆในชั้นบรรยากาศที่มีความชื้นสัมพัทธ์ แต่ไม่ทำให้ฝนตก สร้างเมฆขึ้นมาเพื่อให้ช่วยเป็นตัวดักจับฝุ่นโดยเฉพาะ เมื่อฝุ่นเกาะจับบนก้อนเมฆเมื่อขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศที่สูงขึ้นฝุ่นก็จะถูกพัดพาออกไป และปกติแล้วการจะก่อเมฆขึ้นมาได้ต้องมีความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 60 ขึ้นไป แต่การก่อเมฆเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นถึงความชื้นสัมพัทธ์จะต่ำกว่าร้อยละ 60 ก็สามารถทำได้


รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติม ว่า ที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนน้ำแข็งแห้งเพื่อมาแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากภาคเอกชน ปีละ 350 ตัน แต่ไม่เพียงพอ ล่าสุดได้ของบประมาณกลางเพื่อสร้างโรงผลิตน้ำแข็งแห้ง ในวงเงิน 350 ล้านบาท และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เห็นชอบแล้ว อยู่ระหว่างทำรายละเอียดเสนอสำนักงบประมาณ คาดว่าหากได้รับอนุมัติจะใช้เวลาก่อสร้างไม่เกิน 4 เดือน เพื่อเร่งผลิตน้ำแข็งแห้งมาบรรเทาความเดือดร้อนเรื่องฝุ่น เพราะนอกจากกรุงเทพ ปริมณฑล รวมถึงภาคเหนือที่ประสบปัญหาฝุ่นหนาแน่น ช่วงต้นปีหน้า (2568) ค่าฝุ่น PM 2.5 จะพุ่งสูงในพื้นที่ภาคอีสาน จึงต้องมีความพร้อมที่จะแก้ปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง