'วาสโม' เช่าที่ดิน 'จีซี เอสเตท' ผุดโรงงานเคมีภัณฑ์แห่งแรกที่ระยอง
วาสโม เซ็นสัญญาเช่าที่ดิน 60 ไร่กับ GC เอสเตท สร้างโรงงานสกัดโลหะมีค่าจากสารเร่งปฏิกิริยาที่ไม่ใช้แล้ว เตรียมเปิดปี 69 ลดการนำเข้า-เสริมห่วงโซ่อุตสาหกรรม EV
ประเทศไทยกำลังจะมีโรงงานรีไซเคิลสารเร่งปฏิกิริยาที่ไม่ใช้แล้วเป็นแห่งแรก หลังบริษัท วาสโม จำกัด ลงนามเช่าที่ดิน 60 ไร่ จาก จีซี เอสเตท ในนิคมอุตสาหกรรมเอเซีย จังหวัดระยอง เพื่อสร้างโรงงานสกัดและผลิตเคมีภัณฑ์จากสารเร่งปฏิกิริยาที่เสื่อมสภาพจากอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมี เป้าหมายเพื่อนำโลหะมีค่าที่ได้กลับมาใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเฉพาะการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า คาดแล้วเสร็จปี 2569
พิธีลงนามจัดขึ้น ณ อาคารสำนักงานของบริษัท จีซี เอสเตท จำกัด โดยได้รับเกียรติจากนายพรศักดิ์ มงคลไตรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มปฏิบัติการเพื่อความเป็นเลิศ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล และประธานกรรมการ GC Estate เข้าร่วมแสดงความยินดี โดยมีนางสุนัฏฐา สุขไทย กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีซี เอสเตท จำกัด และนายสิทธิชัย ตลับนาค ประธานกรรมการ บริษัท วาสโม จำกัด ร่วมลงนามในสัญญา พร้อมด้วยคณะกรรมการบริษัทวาสโม ประกอบด้วย นางสาวณัฐกฤตา กุลสิริธนกร, นายเดชฤทธิ์ ตลับนาค, นายเอกพงศ์ เอกลาภ และนางสาวศศิวิมล ปราสาททอง กรรมการผู้จัดการ รวมถึงคณะผู้ถือหุ้น Mr.Shen Hanyu, Mr.Shen Xian Hua และ Mr.Yin Wei
นายสิทธิชัย ตลับนาค ประธานกรรมการ บริษัท วาสโม จำกัด เปิดเผยว่า โรงงานแห่งนี้จะใช้กระบวนการสกัดและผลิตเคมีภัณฑ์ที่มีองค์ประกอบของโลหะมีค่า เช่น โมลิบดีนัม (Molybdenum) ทังสเตน (Tungsten) นิกเกิล (Nickel) และวานาเดียม (Vanadium) จากสารเร่งปฏิกิริยาที่เสื่อมสภาพและไม่ใช้แล้วในอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์ที่ได้จะเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมผลิต Metal Oxide และโลหะผสม Alloys อุตสาหกรรมผลิตเหล็กกล้า สแตนเลส และอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ยังสามารถพัฒนาเป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารเร่งปฏิกิริยา Catalyst ที่จำเป็นในอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมี
การลงทุนครั้งนี้สอดคล้องกับแนวทางของ GC Group และบริษัท วาสโม จำกัด ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมธุรกิจตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเน้นการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรธรรมชาติในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการของเสีย วัตถุดิบ สินค้าที่หมดอายุ และพลังงานให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแบบครบวงจร
โครงการนี้ยังช่วยลดการนำเข้าโลหะมีค่าจากต่างประเทศ และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจผ่านการส่งออก โดยโรงงานมีกำหนดเปิดดำเนินการในปี 2569 ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความยั่งยืนทั้งในด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย
ข่าวแนะนำ