ตั้งเป้าคนไทยอายุยืน 85 ปี ภายในปี 2580
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเดินหน้าเสริมศักยภาพ อสม. ร่วมป้องกันโรค ไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ชวนนับคาร์บ หรือ ปริมาณการรับประทานคาร์โบไฮเดรตที่เหมาะสมในแต่ละบุคคล รวมถึงให้ความรู้ประชาชนในการรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม สร้างพฤติกรรมสุขภาพดี ตั้งเป้าภายในสิ้นปีนี้ อสม. กว่า 1 ล้าน จะสามารถนับคาร์บ ได้อย่างถูกต้อง
นพ.ภาณุวัฒน์ ปานเกตุ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพครูฝึกอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ในการส่งเสริมสุขภาพประชาชนห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง รุ่นที่ 1 โดยมี เจ้าหน้าที่จากศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพ 12 เขต เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จากพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน เข้าร่วมการอบรม เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดให้กับอสม. ในพื้นที่ต่อ และรุ่นที่ 2 จะเป็นเจ้าหน้าที่จากภาคกลางและภาคใต้ ที่จะเข้าร่วมการอบรม ระหว่างวันที่ 16-17 ธันวาคมนี้
การประชุมวันนี้จะเน้นสร้างเสริมองค์ความรู้ ให้กับ อสม. ถึงสถานการณ์โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และการฝึกปฏิบัติจากผู้เชี่ยวชาญ ในเรื่องของการ ลดหวาน มัน เค็ม ที่จะนำไปสู่การป้องกันโรคอย่างถูกวิธี และรู้จักวิธีการนับคาร์บที่ถูกต้อง เพื่อนำความรู้สื่อสารแนะนำประชาชน คัดกรองกลุ่มเสี่ยงและ ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในชุมชน
ปัจจุบันมี อสม.ทั่วประเทศ 1.08 ล้านคน ขณะนี้ อสม. กว่าร้อยละ 54 หรือประมาณ 600,000 คน สามารถเรียนรู้วิธีการนับคาร์บอย่างถูกต้อง ซึ่งตั้งเป้าภายในสิ้นปี 2567 อสม. ทั่วประเทศ จะสามารถเข้าใจความหมาย และสูตรคำนวณ เพื่อส่งต่อให้กับคนในชุมชน โดยจะใช้แอปพลิเคชัน SMART อสม. เป็นตัวบันทึกข้อมูลสุขภาพของประชาชน ซึ่งข้อมูลที่ได้ ก็จะนำมาสู่การให้คำแนะนำกับประชาชนอย่างถูกต้องเพื่อป้องกันโรค การควบคุมปริมาณอาหาร ให้มีความเหมาะสมกับร่างกาย
สำหรับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นปัญหาด้านสุขภาพมาอย่างยาวนานของประเทศไทย ส่งผลให้คนไทยมีอายุยืนลดลง กระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าหมายอายุขัยเฉลี่ย ของคนไทยต้องมีอายุ 85 ปี ภายในปี 2580 โดยมุ่งเน้นให้ อสม. เป็นแกนนำสุขภาพของชุมชน ช่วยส่งเสริม ป้องกัน และควบคุมโรคเชิงรุก ลดการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังก่อนเข้าสู่ระบบการรักษา ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศได้จำนวนมาก
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีคนเสียชีวิตด้วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังถึง 400,000 คนต่อปี และป่วยเพิ่มถึงปีละ 2 ล้านคน ทำให้ไทยสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี โดยเป็นค่ารักษาพยาบาลทางตรงถึง 1.39 แสนล้านบาท
ข่าวแนะนำ
-
- 25/11/67