TNN เช็กด่วน 5 เคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนถูกหลอกลวง

TNN

สังคม

เช็กด่วน 5 เคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนถูกหลอกลวง

เช็กด่วน 5 เคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนถูกหลอกลวง

ดีอีเปิด 5 เคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกมิจฉาชีพหลอกลวง

นางสาววงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 18 – 24 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส ประกอบด้วย

 

คดีที่ 1 คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 7,250,000 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Facebook ชักชวนลงทุนเทรดหุ้นสกุลเงินต่างประเทศ ตนสนใจจึงเพิ่มเพื่อนทาง Line สอบถามรายละเอียด จากนั้นโอนเงินเพื่อทำการเทรดหุ้น ช่วงแรกได้กำไรและสามารถถอนเงินได้ ต่อมามีการดึงเข้า Group Lineและให้ลงทุนเทรดหุ้นเพิ่มแต่ไม่สามารถถอนเงินได้ มิจฉาชีพแจ้งว่าต้องเสียค่าภาษี และค่าประกันบัญชีรับเงิน ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

 

คดีที่ 2 หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 1,417,910 บาท โดยผู้เสียหายพบโฆษณาชักชวนลงทุนหารายได้พิเศษอ้างผลตอบแทนดีผ่านช่องทาง Facebook จึงทักไปสอบถามรายละเอียด มิจฉาชีพแจ้งว่าเป็นการส่งเสริมการขายสินค้าโดยได้รับค่าคอมมิชชันตอบแทน จากนั้นเพิ่มเพื่อนทาง Line แนะนำขั้นตอนการทำงานและดึงเข้า Group Line โดยให้เริ่มลงทุนโอนเงินเข้าไปในระบบก่อนในระยะแรกได้รับผลตอบแทนจริง ต่อมาภายหลังเริ่มให้ลงทุนมากขึ้นจนตนไม่ไหว จึงต้องการขอยกเลิกภารกิจและถอนเงินคืน มิจฉาชีพแจ้งว่าให้ชำระค่าภาษีและค่าปรับเนื่องจากทำผิดกฎบริษัท ผู้เสียหายเชื่อว่าตนถูกมิจฉาชีพหลอก

 

คดีที่ 3 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 1,350,000 บาท โดยผู้เสียหายพบโฆษณาอาหารเสริมผ่านช่องทาง Facebook ตนสนใจจึงจึงทักไปสอบถามรายละเอียดและเพิ่มเพื่อนทาง Line จากนั้นมิจฉาชีพแจ้งว่ามีสินค้าให้ทดลองทานฟรี แต่มีกิจกรรมให้ทำเป็นการโพรโมตแพลตฟอร์มมีค่าคอมมิชชัน แจ้งให้ผู้เสียหายโอนเงิน เป็นค่าโพรโมต ช่วงแรกตนได้รับเงินค่าคอมมิชชันจริง จากนั้นตนโอนเงินเพิ่มแต่ไม่ได้รับเงินคืน มิจฉาชีพแจ้งว่าตนทำรายการผิดพลาด ต้องโอนเงินเพิ่มเพื่อให้ทางระบบเปิด ให้ทำการแก้ไข ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

 

คดีที่ 4 คดีข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) มูลค่าความเสียหาย 336,390 บาท ทั้งนี้ ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทางโทรศัพท์ อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าตนทำการขายบัญชีม้า โดยให้บุคคลอื่นทำการเปิดบัญชีเป็นความผิดกฎหมายอาญา แจ้งขอตรวจสอบเส้นทางการเงินในบัญชี หากไม่ให้ความร่วมมือจะมีความผิดตามกฎหมาย ตนหลงเชื่อจึงโอนเงินไป หลังจากโอนเงินไปมิจฉาชีพติดต่อมาอีกครั้งให้ผู้เสียหาย นำทรัพย์สินไปจำนำเพื่อโอนเงินไปตรวจสอบเพิ่ม และให้ตนเดินทางไปสถานีตำรวจหนองจอกเพื่อพบเจ้าหน้าที่สอบสวน ตนเดินทางไปสถานีตำรวจแต่ไม่พบเจ้าหน้าที่ตามที่มิจฉาชีพแจ้ง ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

 

คดีที่ 5  หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล หรือวัตถุประสงค์อื่นๆ มูลค่าความเสียหาย 251,232บาท โดยผู้เสียหายได้พบโฆษณาบริษัทจัดหางานไปทำงานต่างประเทศผ่านช่องทาง TikTok ตนสนใจจึงเพิ่มเพื่อนทาง Line ทักไปสอบถามรายละเอียด มิจฉาชีพให้โอนเงินโดยอ้างว่า เป็นค่าดำเนินการจองโควตาและค่าตรวจสอบยอดเงินในบัญชี ตนหลงเชื่อจึงโอนเงินไป จากนั้นตนรู้สึกผิดปกติจึงนำชื่อบริษัทจัดหางานไปตรวจสอบ จึงทราบว่าบริษัทถูกนำชื่อ ไปแอบอ้าง ตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

 

สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 10,605,532 บาท

 

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง วันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงาน ดังนี้

 

1. สายโทรเข้า 1441 จำนวน 1,237,065 สาย / เฉลี่ยต่อวัน 3,188 สาย

2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 393,733 บัญชี / เฉลี่ยต่อวัน 1,138 บัญชี

3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่ (1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 116,950 บัญชี คิด เป็นร้อยละ 29.70 (2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 96,250 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 24.45 (3) หลอกลวงลงทุน  59,631 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 15.15 (4) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 33,650 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 8.55  (5) หลอกลวงให้กู้เงิน 30,684 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.78 (และคดีอื่นๆ 56,568 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.37)

 

 “จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพ ใช้วิธีการหลอกลวงผู้เสียหาย ด้วยการหลอกให้ลงทุนเพื่อหารายได้พิเศษ การโพรโมตสินค้า หรือพบโฆษณาหลอกลวงเชิญชวนเทรดหุ้นผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย คือ Facebook ,Line และ TikTok ทั้งนี้ขอย้ำว่า กรณีการร่วมลงทุนผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ที่ไม่มีการรับรองโดยหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นการเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง ขอให้ผู้เสียหายตรวจสอบติดต่อสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัด หรือติดต่อผ่านทางสายด่วน AOC 1441 เพื่อยืนยันตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนที่จะมีการดำเนินการใดๆ และความปลอดภัย ต่อการถูกหลอกลวง ดังนั้นขอให้สอบถามรายละเอียดให้แน่ชัดก่อนให้ข้อมูลส่วนบุคคล และทำการเพิ่มเพื่อนหรือดำเนินการใดๆ ในโซเชียลมีเดีย 


นอกจากนี้ควรตรวจสอบการลงทุนในธุรกิจต่างๆ และการถูกข่มขู่จากมิจฉาชีพอ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ควรติดต่อสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัด หรือติดต่อผ่านทางสายด่วน AOC 1441 เพื่อยืนยันตรวจสอบข้อเท็จจริง” นางสาววงศ์อะเคื้อ กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนยึดหลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน ก่อนที่จะทำธุรกรรมใดๆ อย่ากดเข้าลิงก์เว็บไซต์ หรือดาวน์โหลด และอัปโหลดแพลตฟอร์ม ที่มีการส่งต่อจากช่องทางที่ไม่แน่ใจ โดย กระทรวง ดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านศูนย์ AOC 1441 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง

 

หากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี AOC 1441 แจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.) |  Line ID: @antifakenewscenter | เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com 



ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง