ถึงตัวจิ๋วแต่ร้ายมาก! เปิด 5 โรคอันตรายที่มาจาก "ฝุ่นพิษ PM2.5"
กรุงเทพฯ เผชิญฝุ่นละอองขนาดเล็ก "PM2.5" หลายคนสวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน หลายคนไม่ได้สวมใส่ แต่รู้หรือไม่ว่า ฝุ่นจิ๋วร้ายกาจกว่าที่คิด...?
PM 2.5 อันตรายแค่ไหน?
หลายวันที่ผ่านมาชาวกรุงเทพฯ ต้องเผชิญกับฝุ่นละออกขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ยน้อยกว่า 2.5 ไมครอน หรือ ที่เรียกกันว่า "PM 2.5" หนักถึงขนาดที่ว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย. เวลา 15.40 น. กรุงเทพฯ ติดอันดับ 1 พื้นที่ที่มีค่าดัชนีคุณภาพอากาศสูงที่สุดในโลกจากเว็บไซต์ AirVisual ด้วย
เราลองมาดูกันว่า เจ้าฝุ่นพิษ PM2.5 ร้ายแรงแค่ไหน และทำอันตรายกับร่างกายมนุษย์อย่างไรบ้าง
PM 2.5 มาจากไหน?
- การเผาไหม้ จากบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่
- เผาไม้ของเชื้อเพลิง ทั้งดีเซลและแก๊สโซฮอล์จากเครื่องยนต์
- การผลิตไฟฟ้า ทำให้มีการปล่อย PM 2.5 สู่อากาศ
- สารเคมีและอุตสาหกรรมการผลิต พบมากในพื้นที่เขตควบคุมมลพิษมาบตาพุด จังหวัดระยอง
นอกจากฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ถูกปล่อยมา ยังรวมไปถึงการรวมตัวของก๊าซต่างๆ ก็สามารถทำลายระบบโอโซนในอากาศและระบบร่างกายของมนุษย์ได้เช่นกัน เช่น ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ไนโตรเจน (NOx) สารปรอท (Hg), แคดเมียม (Cd), อาร์เซนิก (As) เป็นต้น
5 ความอันตรายที่มากับฝุ่นพิษ PM2.5
ด้วยขนาดของฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กมาก เมื่อคนสูดอากาศที่ปะปนไปด้วยฝุ่นจิ๋ว PM2.5 รวมเข้าไปกับลมหายใจ สามารถผ่านลงไปได้ลึกจนถึงถุงลมที่เป็นส่วนปลายสุดของปอด ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อหลอดลมฝอยและถุงลม และบางส่วนของเล็ดรอดผ่านผนังถุงลม ไชชอนผ่านเส้นเลือดฝอยเข้าสู่กระแสโลหิต และกระจายตัวแทรกซึมไปทั่วร่างกายได้
ความร้ายกาจของฝุ่นจิ๋วต่อปอดของเราเป็นผลจากการกระตุ้นให้เกิดสารอนุมูลอิสระ ลดระบบแอนตี้ออกซิแดนท์ รบกวนดุลแคลเซียมจนทำให้เกิดการอักเสบ และกระตุ้นยีนที่เกี่ยวข้องกับการหลั่งสารอักเสบซึ่งเป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อของตัวเราเอง จนเกิดผลร้ายที่สำคัญ 3 ประการคือ
1.โรคระบบทางเดินหายใจ
ส่วนมากจะเกิดกับระบบทางเดินหายใจ คือ ไอ เจ็บคอ หายใจแล้วมีเสียงฟืดฟาด เลือดกำเดาไหล ซึ่งหากเลือดไหลลงคอก็จะทำให้เสมหะมีเลือดเจือปน
2.โรคหัวใจและหลอดเลือด
เป็นอาการเรื้อรัง ค่อยๆ สะสม แล้วแสดงผลในระยะยาว โดยจะทำให้เกิดเส้นเลือดหัวใจตีบตันทำให้หัวใจวาย หัวใจเต้นผิดปกติ, เส้นเลือดไปเลี้ยงสมองตีบ ทำให้เกิดภาวะอัมพาตหรือเสียชีวิต, การเป็นมะเร็งปอดเพราะฝุ่นขนาดเล็กจะมีสารก่อมะเร็ง Polycyclic Aromatic Hydrocarbon (PAH)
3.โรคถุงลมโป่งพอง
เกิดมาจากสาเหตุเดียวกัน คือ การสูดเอาฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าไปที่ปอด กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ เม็ดเลือดขาวกินฝุ่นพวกนี้เพื่อรักษาร่างกายแต่ไม่สามารถย่อยได้จึงตายแล้วปล่อยเอนไซม์ที่เป็นน้ำย่อยมาย่อยผนังปอดอีกทีหนึ่ง ทำให้ถุงลมนับร้อยในปอดแตกออกเหลือเป็นถุงเดียว พื้นที่การแลกเปลี่ยนก๊าซลดเหลือน้อยลง และทำให้เกิดอาการเหนื่อย ดังนั้นเมื่อเราสูดหมอกควันเข้าไปมาก ๆ จึงเป็นเสมือนการสูบบุหรี่”
4.โรคผิวหนัง
งานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าฝุ่นละอองยังสามารถแทรกซึมเข้าไปทางผิวหนัง และก่อให้เกิดการระคายเคืองได้ โดยสามารถจับตัวกับสารเคมีและโลหะต่างๆ และนำพาเข้าสู่ผิวหนัง มีผลทำร้ายเซลล์ผิวหนัง และ กระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบของเซลล์ผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นคันที่ผิวหนัง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีโรคผิวหนังเดิมอยู่แล้ว เช่น โรคภูมิแพ้ผิวหนัง ผื่นผิวหนังอักเสบ สะเก็ดเงิน สิว ผมร่วง จะทำให้มีการระคางเคือง คันมากขึ้น ผื่นกำเริบมากขึ้นได้
นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดอนุมูลอิสระที่สามารถส่งผลร้ายต่อเซลล์ผิวหนังมนุษย์ ทั้งในกระบวนการสร้างเซลล์ ซึ่งส่งผลต่อภาวะความชราของผิวหนัง รวมถึงจุดด่างดำบนชั้นผิวหนังด้วย โดยพบว่ามีการเกิดจุดด่างดำบริเวณใบหน้าเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังมีการเกิดริ้วรอยบริเวณร่องแก้มมากขึ้นด้วย
5.โรคเยื้อบุตาอักเสบ หรืออาการตาแดง
เกิดจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือมลพิษในอากาศ เช่น ฝุ่นควันจาก PM 2.5 เมื่อฝุ่นละอองเข้าสู่เยื่อบุตาจนเกิดการอักเสบ ตาแดง แสบตา คันตา ถ้าไม่รุนแรงมาก อาการจะหายไปเองภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่การพบแพทย์เพื่อใช้ยาก็จะช่วยให้หายเร็วขึ้น
กลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวัง
- ผู้สูงวัย (อายุมากกว่า 60 ปี) เพราะมีความต้านทานโรคน้อยและส่วนใหญ่จะมีโรคประจำตัว
- เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อง่าย
- ผู้ป่วยโรคปอดและโรคหัวใจ ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะมีผลกระทบโดยตรง ซึ่งเมื่อได้รับฝุ่นเข้าไปอาจทำให้อาการกำเริบจนเสียชีวิตได้
- หญิงตั้งครรภ์ เมื่อฝุ่นละอองขนาดเล็กแทรกซึมเข้าไปที่รก เสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อเด็กในท้องได้ ทำให้เด็กคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักน้อย ติดเชื้อง่าย ทุพโภชนาการ และเป็นโรคออทิสซึม ซึ่งผลกระทบเหล่านี้มีการยืนยันที่ตรงกันจากงานวิจัยทั่วโลก
ข้อแนะนำและวิธีป้องกันตนเองจากฝุ่นพิษ PM 2.5
1. ลดการใช้ยานพาหนะส่วนตัว ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ
2. หลีกเลี่ยงการเผาไหม้ในที่โล่งแจ้ง เผาพื้นที่เพื่อเตรียมการทำเกษตรกรรม เผาขยะ หรือวัสดุเหลือใช้
3. ควบคุมกระบวนการก่อสร้างให้มีฝุ่นน้อยที่สุด
4. ออกกำลังกายในที่ร่ม ฝุ่นน้อยๆ และไม่ควรใส่หน้ากากอนามัยเวลาออกกำลังกาย
5. รับประทานอาหารเสริม อาหารที่มีวิตามินซี และวิตามินอีสูง เช่น ถั่ว ปลา(มีโอเมก้า 3 มาก)
6. ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่จำเป็นต้องออกข้างนอกบ้าน หรือที่โล่งแจ้ง ให้ใส่หน้ากากพิเศษชนิดที่เรียกว่า "N95" โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคระบบการหายใจหรือโรคหัวใจเรื้อรัง
อย่ามองข้ามเรื่องเล็กๆ ใกล้ตัว
หันมาใส่ "หน้ากากอนามัย" กันดีกว่า
ขอบคุณข้อมูลจาก
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยฯ
รศ.พญ.รังสิมา วณิชภักดีเดชา ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กินเสี่ยงตาย! ไขอาการ 'แพ้อาหาร' เช็กก่อนเผลอกิน
ขำ-ไม่ขำ ต้องลอง! สอนเทคนิค 8 ท่าหัวเราะง่ายๆ ประโยชน์เหลือล้น
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand
ข่าวแนะนำ
-
กทม.เปิดสวน 15 นาทีแล้ว 141 แห่ง
- 11:25 น.