ควันบุหรี่มือ 2 เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม 1.24 เท่า
มีงานวิจัยใหม่เกี่ยวกับผลกระทบจากควันบุหรี่มือ 2 ที่นอกจากจะก่อให้เกิดโรคต่างๆมากมาย เช่น หลอดเลือดสมอง มะเร็งปอดและหลอดลม ล่าสุดยังพบว่าควันบุหรี่มือ 2 เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมในผู้หญิงถึง 1.24 เท่า ซึ่งปกติแล้วมะเร็งเต้kนมก็เป็นโรคที่พบเป็นอันดับหนึ่งของผู้หญิงไทย ดังนั้นหากมีปัจจัยของควันบุหรี่มือ 2 มาเพิ่มจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้ก่อเกิดมะเร็งเต้านมได้มากขึ้น
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเวทีพูดคุยถึงประเด็นผลกระทบต่อสุขภาพจากควันบุหรี่มือสอง ภายใต้หัวข้อ “ฆาตกรที่มองไม่เห็น คนไทยตายปีละเท่าไรจากควันบุหรี่มือสอง” พร้อมเปิดเผยงานวิจัยใหม่ของความเสี่ยงโรคที่ก่อเกิดจากควันของบุหรี่มือสอง รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยสถานการณ์การได้รับควันบุหรี่มือสองว่า ควันบุหรี่มือสองเป็นภัยใกล้ตัวที่หลายคนอาจมองข้าม ทั้งที่เป็นปัญหาใหญ่เพราะปัจจุบันมีคนไทยที่ไม่ได้สูบบุหรี่มากถึง 34 ล้านคน แต่คนเหล่านี้ได้รับควันบุหรี่มือสองจากคนรอบตัวที่สูบบุหรี่ โดยเฉพาะที่บ้าน ซึ่งอัตราการได้รับควันบุหรี่มือสองของคนไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศแล้วอยู่ในระดับที่สูงมาก จากข้อมูลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 6 (พ.ศ. 2562) พบคนไทยร้อยละ 70 ได้รับควันบุหรี่มือสอง ขณะที่การสำรวจของประเทศอังกฤษ ในปี 2562 พบคนอังกฤษได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่มือสองเพียงร้อยละ 30 ซึ่งน้อยกว่าไทย โดยในไทยผู้หญิงได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่มือสองจากที่บ้านร้อยละ 68 สูงเป็นอันดับ 5 ของโลก มากกว่าผู้ชายได้รับควันบุหรี่มือสองจากบ้าน ร้อยละ 47 ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เพราะปัจจุบันมีหลักฐานงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์จากวารสารมะเร็งของประเทศอังกฤษ ปี 2567 ยืนยันแล้วว่าการสูดควันบุหรี่มือสองเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมในผู้หญิงถึง 1.24 เท่า หรือร้อยละ 24 โดยความเสี่ยงจะเพิ่มตามปริมาณและระยะเวลาที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง ซึ่งมะเร็งเต้านมก็เป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับหนึ่งของผู้หญิงไทย ดังนั้นหากมีปัจจัยของควันบุหรี่มือ 2 มาเพิ่มจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้ก่อเกิดมะเร็งเต้านมได้มากขึ้น ขณะที่ ศ.นพ.ประกิต เวทีสาธกกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กล่าวย้ำว่า แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ แต่การบังคับใช้กฎหมายยังทำได้ไม่ดี โดยคะแนนที่องค์การอนามัยโลกประเมินไทย อยู่ที่ 6 คะแนนจากเต็ม 10 คะแนน โดยเฉพาะปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า และมีการนำมาสูบในที่สาธารณะหรือออกสื่อทั้งที่ผิดกฎหมาย จึงอยากสื่อสารให้รัฐบาลเอาจริงกับเรื่องนี้ เพราะมีบทเรียนจากต่างประเทศแล้วว่าประเทศที่บังคับใช้กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะอย่างจริงจัง สามารถลดความเสี่ยงต่อการได้รับควันบุหรี่มือสองในคนไม่สูบลงได้ ลดความเสี่ยงของประชากรโดยเฉพาะเด็กต่ออันตรายจากควันบุหรี่
ข่าวแนะนำ