หลอดเลือดหัวใจตีบ อาการเริ่มต้นโรคหัวใจ
หลอดเลือดหัวใจตีบสาเหตุเสียชีวิตรองจากโรคมะเร็ง สังเกตอาการสัญญาณเริ่มต้นโรคหัวใจที่ไม่ควรมองข้าม
หลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นอีกหนึ่งโรคที่มีความรุนแรงและสามารถทำให้เสียชีวิตได้ โดยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยทั่วโลกรวมถึงผู้ป่วยในไทยต้องเสียชีวิตรองลงมาจากโรคมะเร็ง
โดยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ คือ ภาวะที่เยื่อบุผนังหลอดเลือดหัวใจหนาตัวขึ้นเนื่องจากเกิดการสะสมของสารต่าง ๆ และคราบไขมัน (Plaque) ส่งผลให้หลอดเลือดหัวใจตีบแคบลง การไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจลดน้อยลงและอาจทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดที่สร้างผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพ
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แบ่งปัจจัยเสี่ยงออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ และปัจจัยที่ควบคุมได้
โดยปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ได้แก่
->อายุที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้หลอดเลือดหัวใจเกิดการเสื่อมสภาพและแคบเล็กลง ซึ่งผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมักพบได้มากในกลุ่มวัยกลางคนไปจนถึงผู้สูงอายุ
->เพศ จากข้อมูลพบว่าเพศชายมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้มากกว่าเพศหญิงที่อยู่ในช่วงวัยก่อนหมดประจำเดือน
->พันธุกรรม หากมีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบก็อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดโรคได้
ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้ เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตไม่เหมาะสม ดังนี้
->การสูบบุหรี่ โดยสารพิษจำนวนมากกว่า 4,000 ชนิด ที่พบในบุหรี่มีส่วนทำให้เซลล์เยื่อบุผนังหลอดเลือดเสื่อมตัวก่อนวัยอันควรและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้มากถึง 2-4 เท่า
->มีไขมันในเลือดสูง ระดับคอเลสเตอรอลสูง ที่เกิดจากการรับประทานอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล และไขมันมากเกินจำเป็น ทำให้มีปริมาณไขมันสะสมเพิ่มขึ้น
->ภาวะความดันเลือดสูงเป็นระยะเวลานานจะส่งผลให้หัวใจทำงานหนัก และกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายหนาตัวผิดปกติ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
->โรคอ้วนหรือน้ำหนักตัวเกิน มีอาการอ้วนลงพุง
->โรคเบาหวาน ที่เกิดจากมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงชนิดเรื้อรังส่งผลให้เซลล์เยื่อบุหลอดเลือดหัวใจเสื่อมสภาพลงอย่างรวดเร็ว
->ความเครียดสะสม การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
ทั้งนี้ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบมักไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า โดยจะมีอาการของโรคเมื่อเข้าสู่ระยะรุนแรงแล้ว ดังนี้
->ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บแน่นหน้าอก คล้ายมีของหนักทับที่หน้าอก อาจปวดร้าวจากหน้าอกขึ้นคางหรือปวดร้าวไปบริเวณแขนซ้าย
->รู้สึกเหนื่อยง่ายโดยเฉพาะตอนที่ต้องออกแรง เช่น ยกของ ถือของหนัก ๆ หรือออกกำลังกายเบา ๆ
->ระดับความดันเลือดต่ำลงเฉียบพลัน
->ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีเหงื่อออกมาก
->ในระยะรุนแรงที่สุดอาจทำให้มีภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ส่งผลให้ผู้ป่วยหมดสติหรือหัวใจหยุดเต้น
การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะใช้วิธีรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตามระดับความรุนแรงของโรค แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่
1.หลอดเลือดตีบตันเพียงบางส่วน แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาด้วยการใช้ยาควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสมมากขึ้น
2.หลอดเลือดตันมาก หากตรวจพบการตีบแคบของหลอดเลือดในระดับมากขึ้นจะใช้วิธีการรักษาด้วยการทำบอลลูนและใส่ขดลวดหัวใจเพื่อช่วยขยายหลอดเลือดและทำให้มีเลือดไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้อย่างเหมาะสม
3.ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการทำบอลลูนและใส่ขดลวดหัวใจ มีความจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดทำบายพาสหัวใจเพื่อต่อเส้นเลือดที่เป็นทางเบี่ยงขึ้นมาใหม่ทำให้มีเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้มากขึ้น
ทั้งนี้แม้ว่าโรคหลอดเลือดหัวใจตีบจะเป็นโรครุนแรงและอาจทำให้เสียชีวิตได้ แต่สามารถดูแลตัวเองตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุขไปได้อีกยืนยาว
ข้อมูลจาก : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพ : ทีมกราฟิก TNN
ข่าวแนะนำ
-
ท่วมซ้ำรอบ 3 ชาวบางบาลเดือดร้อนหนัก
- 28/10/67