รู้จักโรคเครียดจากเหตุสะเทือนขวัญ หรือ ภาวะ PTSD
ความเครียดส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งมีโรคเครียดชนิดหนึ่งที่หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตระยะยาวได้ ก็คือ โรคเครียดจากเหตุสะเทือนขวัญ หรือ ภาวะ PTSD
ภาวะ PTSD คืออะไร ?
กรมสุขภาพจิตมีคำอธิบายโรคเครียดจากเหตุสะเทือนขวัญ หรือ ภาวะ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) ว่า คือสภาวะป่วยทางจิตใจ หรือภาวะความผิดปกติทางอารมณ์ หลังเผชิญกับเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจอย่างร้ายแรง เช่น จากเหตุภัยพิบัติ , สงครามหรือการจลาจล , อุบัติเหตุ , การถูกทำร้าย เป็นต้น ทำให้มีปัญหาทางอารมณ์เครียดรุนแรง ฝันร้าย หรือผวา เรื้อรังยาวนาน ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้โดยตรงทั้งกับผู้ที่ประสบเหตุร้ายด้วยตัวเอง หรือผู้อยู่ในเหตุการณ์และเห็นเหตุการณ์สะเทือนใจนั้น หรือทางอ้อมก็คือคนในครอบครัว ญาติ ที่ใกล้ชิดกับผู้ที่ประสบเหตุร้ายแรง
ลักษณะอาการผู้ที่เข้าข่ายเสี่ยงเป็นภาวะ PTSD มี 2 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 : เกิดอาการเครียดเฉียบพลัน จะมีระยะเวลาในการแสดงอาการช่วง 1 เดือนแรกหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจ เช่น นึกถึงเรื่องราวกระทบกระเทือนใจซ้ำ ๆ ฝันร้าย สึกเหมือนถูกดึงกลับไปในเหตุการณ์นั้นอีก สามารถส่งผลต่อการเกิดอาการทางจิตประสาทขึ้นมาได้
ระยะที่ 2 : ระยะเวลานานมากกว่า 1 เดือน อาจจะยาวนานหลายเดือนหรือนานเป็นปี แล้วแต่บุคคล ซึ่งมีลักษณะอาการสำคัญ 4 อย่างคือ
1. ตกใจกลัวรุนแรงโดยไม่มีเหตุกระตุ้น
2. อารมณ์ การรับรู้ เปลี่ยนไปในทางลบ เช่น หม่นหมอง เมินเฉย
3. มีอาการตื่นตัวมากเกินปกติ
4. พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์รุนแรงที่ได้ไปพบเจอมา
แนวทางการรักษาภาวะ PTSD
ผู้ที่อยู่ภาวะ PTSD รวมถึงคนในครอบครัว สามารถดูแลตัวเองได้ในเบื้องต้น เช่น การพักผ่อนนอนหลับที่ดี , หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอร์หรือใช้ยาเสพติด , หาคนพูดคุยด้วย
แต่หากมีอาการตามที่กล่าวมาข้างต้นเกิน 1 เดือน หรือ มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาที่ถูกต้อง ตรงจุดต่อไป
ข้อมูล : กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
ภาพ : ทีมกราฟิก TNN
ข่าวแนะนำ
-
ท่วมซ้ำรอบ 3 ชาวบางบาลเดือดร้อนหนัก
- 28/10/67