ข่าวปลอม! หากเมฆวิ่งลอยสวนทางกัน จะเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่-อากาศสุดขั้ว
ข่าวปลอม อย่าแชร์! หากเมฆเกิดวิ่งลอยสวนทางกัน จะทำให้เกิดฝนแช่ในพื้นที่ต่อเนื่อง เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ เกิดอากาศสุดขั้ว
ตามที่มีผู้ส่งต่อข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องหากเมฆเกิดวิ่งลอยสวนทางกัน จะทำให้เกิดฝนแช่ในพื้นที่ต่อเนื่อง เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ เกิดอากาศสุดขั้ว ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับทางกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่าข้อมูลดังกล่าว เป็นข้อมูลเท็จ
จากกรณีการแชร์ข้อมูลบ่งชี้ว่า หากเมฆเกิดวิ่งลอยสวนทางกัน จะทำให้เกิดฝนแช่ในพื้นที่ต่อเนื่อง เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ เกิดอากาศสุดขั้วนั้น ทางกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลปลอมที่เชื่อถือไม่ได้ เนื่องจากเมฆ (Cloud) คือ ไอน้ำที่กลั่นตัวรวมกันเข้าเป็นกลุ่มก้อน อาจมีสภาพเป็นอนุภาคเล็ก ๆ ของน้ำหรือน้ำแข็ง หรือทั้ง 2 อย่างปนกันลอยอยู่ในอากาศ สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ในกลุ่มของผสมนี้อาจมีอนุภาคใหญ่ ๆ ของน้ำแข็งปนอยู่ด้วย หรืออาจมีอนุภาคที่ไม่มีน้ำหรืออนุภาคที่เป็นของแข็ง ตัวอย่าง เช่น ก๊าซ ผงฝุ่น หรือควัน ฯลฯ ซึ่งเกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมปนอยู่ด้วย
เมฆมีหลายชนิด แต่มีบางชนิดเท่านั้นที่มีฝนตกลงมาโดยจะลอยตัวอยู่ในอากาศเฉย ๆ แต่มีลักษณะอากาศที่ทำให้ละอองน้ำรวมตัวกันเป็นเม็ดน้ำใหญ่ขึ้นและมีน้ำหนักมากขึ้น กระแสอากาศหรือลมไม่สามารถจะพัดให้เม็ดน้ำนั้นลอยตัวอยู่ในอากาศได้ มันจึงตกลงมาเป็นฝนหรือหิมะขาว ๆ หรือบางทีเป็นลูกเห็บตกลงมาบนพื้นโลก ละอองน้ำในเมฆจะมีขนาด 0.01-0.02 มิลลิเมตรหรือเท่ากับ 10 ถึง 20 ไมครอน สามารถลอยอยู่ในบรรยากาศเป็นเมฆ เมื่อละอองน้ำในเมฆเกิดการรวมตัวกันโตจนมีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 1 มิลลิเมตร (1,000 ไมครอน) หรือใหญ่กว่า มันจะตกลงมาจากเมฆปกติ แล้วเป็นเม็ดฝน 1 เม็ด การเคลื่อนที่ของเมฆจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับความเร็วและทิศทางลมระดับความสูงนั้น ๆ
การเกิดฝนตกแช่หรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ทำให้เกิดฝน เช่น ฝนที่เกิดจากพายุโซนร้อน ร่องความกดอากาศต่ำ หรือมรสุมที่มีกำลังแรง อาจทำให้มีลักษณะของฝนที่ตกแช่จนกว่าตัวการหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดฝนนั้นสลาย เป็นต้น
ฤดูกาล เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เป็นช่วงเวลาในแต่ละปีที่แบ่งตามสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เกิดขึ้นจากการที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ เนื่องจากแกนโลกเอียงเป็นมุม 23.5 องศา จึงทำให้ในแต่ละช่วงของปี แต่ละบริเวณจะได้รับแสงแดดไม่เท่ากัน ทำให้มีอุณหภูมิต่างกัน จึงเกิดเป็นฤดูกาลต่าง ๆ ขึ้น สำหรับประเทศไทยซึ่งอยู่ในเขตร้อน จะแบ่งออกเป็น 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว
ภาพจาก AFP
ข่าวแนะนำ