นักอนุรักษ์ ดัน 'นกเงือกชนหิน' เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองอันดับ 20 ของไทย
นักอนุรักษ์นกเงือก เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาล่านกเงือกชนหิน หลังพบกลุ่มนายพรานในพื้นที่เทือกเขาบูโดรุกหนัก ทั้งตัดไม้ ล่านกเงือกชนหินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมผลักดันนกเงือกชนหินเป็นสัตว์ป่าสงวน
วันนี้ (30 ก.ย.62) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปรีดา เทียนส่งรัศมี นักวิจัยโครงการศึกษาวิทยานกเงือก(ส่วนภาคใต้) คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล ที่ทำงานศึกษาวิจัยนกเงือกมากว่า 20 ปี ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับทีมข่าว TNN ถึงการล่านกเงือกชนหิน ว่า ในช่วง2-3 ปีที่ผ่านมา การล่านกเงือกชนหิน ในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ถือว่า หนักขึ้นเรื่อยๆ มีพรานล่าตามป่า ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเดิมที่เคยล่าหมู ล่าค้าง ไม่เกรงกลัวกฎหมาย โดยเฉพาะเทือกเขาบูโด พบร่องรอยของการตัดต้นไม้ ที่เพิ่มขึ้น และการขึ้นไปล่านกเงือกเพื่อไปขาย
ทั้งนี้ ใน 1 ปีที่ผ่านมา จากการสำรวจโพรง "นกเงือกชนหิน" 23 โพรง บนเทือกเขาบูโด พบเพียงโพรงเดียว ที่นกเงือกชนหินเข้าโพรง ซึ่งถือเป็นเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ซึ่งนกเงือกชนหินถือมีความต้องการจากตลาดมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่นิยมไปประดับบารมี นำไปแกะสลัก ราคาต่ำสุดอยู่ที่ 10,000บาท จนถึง 100,000 บาท ต่อ 1 หัว หากนำไปขายยังตลาดต่างประเทศราคาก็จะสูง เช่น ประเทศจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย
สำหรับการล่านกเงือกชนหิน ส่วนใหญ่จะทำตามคำสั่ง ตามออเดอร์ เช่น เกจิดังๆ ก็จะนำไปทำพิธี ทำงาสีผึ้ง งาแดง เพื่อมาอวดบารมี มีการเกร็งกำไรในตลาดการซื้อขาย โดยจะมีการขายในกลุ่มเฉพาะในโลกออนไลน์
นอกจากนี้ ในบรรดาที่นักสะสมงานิยมอันดับ 1 คือ "งาแดง" ที่มาจาก "นกเงือกชนหิน" ซึ่งจะมีราคาแพงมากที่สุด รองลงมา คือ "งาดำ" จาก "นอแรด" และ "งาขาว" จาก "ช้าง"
สำหรับ "นกเงือกชนหิน" ถือเป็นนกเงือกชนิดหนึ่งที่มีสายพันธุ์เก่าแก่ถึง 45 ล้านปี มีลักษณะเด่นกว่านกเงือกชนิดอื่นๆ คือ สันบนจะงอยปากใหญ่หนาเนื้อในสีขาวตันคล้ายงาช้าง และมีขนหางพิเศษคู่หนึ่ง ซึ่งจะงอกยาวเลยขนหางเส้นอื่นๆ ออกไปมากถึง 50 เซนติเมตร ในเทือกเขาบูโด จะมีชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่ทำงาน ร่วมกับ ปรีดา ในนาม ชุมชนอนุรักษ์นกเงือกเทือกเขาบูโด ในการสำรวจโพรงนกเงือก ซ่อมโพรงรัง และค่อยสอดส่องดูแลนกเงือกในผืนป่า แต่การทำงานต้องเจออุปสรรค์ เนื่องจากถูกกลุ่มนายพรานขมขู่เมื่อเข้าไปตักเตือน หลังพบว่ามีการห้ามล่านกเงือก
ปรีดา มองว่า ถึงเวลาแล้ว ที่นกเงือกชนหิน ในประเทศไทย ควรถูกผลักดันให้เป็นสัตว์ป่าสงวน อันดับที่ 20 ของไทย เนื่องจากบทลงโทษจะได้หนักขึ้น จากสัตว์ป่าคุ้มครองที่นกเงือกได้รับสถานะอยู่ตอนนี้ รวมถึง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ต้องเข้มงวดในการลาดตระเวน และไม่ควรปล่อยปละละเลยในกระบวนการล่าสัตว์ โดยเฉพาะการล่านกเงือกชนหินที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ พร้อมจัดทำแผนอนุรักษ์นกเงือกให้ปลอดภัยจากการคุกคาม
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ของโครงการศึกษาวิทยานกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล ในพื้นที่เทือกเขาบูโด สามารถเพิ่มประชากรนกเงือกทุกชนิด รวม 600 ตัว มีโพรงนกเงือก 200 โพรง ชนิดที่มากสุด คือ "นกกก" แต่ที่ผ่านมา เทือกเขาบูโดต้องเผชิญปัญหาการลักลอบตัดไม้และลวงจับลูกนกเงือกไปขาย
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand
ข่าวแนะนำ
-
กทม.เปิดสวน 15 นาทีแล้ว 141 แห่ง
- 11:25 น.