TNN อาการปวดหลังแบบไหน เสี่ยงอันตราย

TNN

สังคม

อาการปวดหลังแบบไหน เสี่ยงอันตราย

อาการปวดหลังแบบไหน เสี่ยงอันตราย

เตือนภัยสุขภาพผู้ที่นั่งทำงานนาน ๆ เคลื่อนไหวผิดท่า หรือ ยกของหนัก อาจเกิดอาการปวดหลังและเสี่ยงป่วยได้หลายโรค

อาการปวดหลัง เป็นอาการที่หลายคนกำลังประสบปัญหา ไม่ว่าจะเป็นวัยเรียน วัยทำงาน หรือวัยสูงอายุ บางคนอาจไม่ได้มีอาการปวดรุนแรง สามารถหายเองหรือบรรเทาอาการปวดเบื้องต้นด้วยการทานยาและท่าบริหารยืดกล้ามเนื้อส่วนหลัง แต่ในผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการปวดรุนแรงเป็นระยะเวลานานจนเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิตประจำวัน


โดยปัจจัยที่ทำให้เกิด อาการปวดหลัง เช่น บาดเจ็บจากอุบัติเหตุหรือการเล่นกีฬา/การนั่งทำงานนาน ๆ หรือการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ยกของหนัก ใช้แรงผลัก หรือดึงทำให้กระดูกสันหลังบิด ภาวะกระดูกพรุนหรือเปราะบาง


นอกจากนี้อาจเกิดจากความผิดปกติของกระดูกสันหลังตั้งแต่กำเนิด เช่น กระดูกสันหลังคด , ภาวะอ้วนหรือน้ำหนักตัวที่มากเกินไป , ขาดการออกกำลังกายทำให้กล้ามเนื้อรอบกระดูกสันหลังไม่แข็งแรง และโรคอื่น ๆ ที่ทำให้ปวดร้าวมาที่หลัง เช่น โรคไต โรคเกี่ยวกับรังไข่และมดลูก


ส่วนอาการปวดหลังแบบไหนที่เสี่ยงอันตรายและควรรีบพบแพทย์ทันที ได้แก่


- อาการปวดหลังเรื้อรังติดต่อกันเป็นระยะเวลานานกว่า 3 เดือน

- ปวดแบบเฉียบพลันอาการไม่ทุเลาเมื่อได้พัก

- อาการปวดจนต้องตื่นมากลางดึก ปวดหลังร้าวลงสะโพก ขา น่อง หรือเท้า

- ปวดรุนแรงไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ อาการปวดหลังจากการได้รับบาดเจ็บหรือหกล้ม


อาการปวดหลังแบบไหน เสี่ยงอันตราย




ทั้งนี้ต้องระวัง หากปวดหลังร่วมกับอาการต่อไปนี้จะเสี่ยงอันตราย ได้แก่ 


- คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ 

- ชาบริเวณเท้า ขา หรือรอบทวารหนัก 

- ขาอ่อนแรง 

- น้ำหนักตัวลดลงผิดปกติ 

- ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้


อาการปวดหลังแบบไหน เสี่ยงอันตราย


โดยอาการปวดหลังแบ่งออกได้หลายส่วน แต่ละส่วนสามารถบอกได้ว่ามีความเสี่ยงโรคอะไรบ้าง


- ปวดหลังส่วนบน อาจมีอาการร่วมกับปวดคอ บ่า ไหล่ แขน และมืออ่อนแรงร่วมด้วย สาเหตุอาจมาจากการนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งเสี่ยงโรคกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อมทับเส้นประสาท โรคหมอนรองกระดูกคอ หรือโรคของกล้ามเนื้อ เช่น ออฟฟิศซินโดรม

- ปวดหลังด้านซ้ายหรือด้านขวา ส่วนใหญ่มักเกิดจากกล้ามเนื้อที่หลังผิดปกติ ข้อต่อกระดูกส่วนอก ประสบอุบัติเหตุ เกิดการกระแทก หรือยกของหนักมากเกินไป เสี่ยงโรคกระดูกซี่โครงอ่อนบาดเจ็บรวมไปถึงโรคของกล้ามเนื้อร่วมด้วย

- ปวดหลังช่วงเอวหรือส่วนล่าง อาจมีสาเหตุจากการเคลื่อนไหวที่ไม่ถูกต้อง ใช้เวลาไปกับการนั่งหรือยืนนานเกินไป มีน้ำหนักตัวที่มากเกิน และยังเป็นสัญญาณเตือนโรคหมอนรองกระดูก กระดูกสันหลังติดเชื้อ หรือการผิดรูปของกระดูกสันหลัง นอกจากนี้ยังเป็นสัญญาณเตือนโรคไต โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร


อาการปวดหลังแบบไหน เสี่ยงอันตราย


วิธีการรักษา อาการปวดหลัง 

->รักษาด้วยการรับประทานยาแก้ปวด 

->ทายานวดเพื่อลดอาการปวด 

->ทำกายภาพบำบัด 

->ออกกำลังกายเพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อหลังแข็งแรง 

->ควบคุมน้ำหนัก 

->เปลี่ยนสภาพแวดล้อมการทำงาน 

->รักษาด้วยการฉีดยาลดการอักเสบ 

->ผ่าตัดเพื่อลดการกดทับเส้นประสาท


ข้อมูล: คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล 

ภาพ : กราฟิก TNN

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง