TNN กทม.ส่งรถดูดโคลนเพิ่ม ช่วยฟื้นฟูเชียงราย

TNN

สังคม

กทม.ส่งรถดูดโคลนเพิ่ม ช่วยฟื้นฟูเชียงราย

กทม.ส่งรถดูดโคลนเพิ่ม ช่วยฟื้นฟูเชียงราย

กระทรวงสาธารณสุขสรุปตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบน้ำท่วม มีผู้เสียชีวิตสะสมแล้ว 49 คน บาดเจ็บ 1,500 คนพร้อมสั่งทุกจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วมสำรองยาและเวชภัณฑ์ให้พอ 3 เดือน พร้อมกรุงเทพมหานครส่งรถดูดโคลนเพิ่มช่วยผู้ประสบภัยเชียงราย โดยให้เน้นเข้าไปช่วยเหลือบ้านเรือนประชาชนในชุมชน

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปล่อยขบวนรถกรุงเทพมหานคร จำนวน 16 คันไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย จังหวัดเชียงราย  ประกอบด้วย  รถดูดโคลน รถตรวจการณ์  รถบรรทุกขนาด 6 ตัน  รถเทรลเลอร์ ท้ายลาด  รถบรรทุก 10 ล้อ ติดตั้งเครน รถตักหน้า ขุดหลัง รถบรรทุกเทท้าย และรถบรรทุกขนาดเล็ก พร้อมเจ้าหน้าที่ 36 คน หลังก่อนหน้านี้ได้


นายชัชชาติ  ระบุว่า เป็นหน้าที่ที่ต้องไปช่วยเหลือเพราะว่าเงินที่ซื้ออุปกรณ์ทั้งหลายก็เป็นเงินภาษีประชาชน  ไม่จำเป็นต้องเป็นคนกรุงเทพฯ เราก็ต้องช่วยทั้งประเทศ โดยจะเน้นไปที่หมู่บ้าน ตามชุมชน ซอยย่อยต่างๆ ซึ่งคิดว่าเขาลําบากเดือดร้อนมาก เพราะถนนใหญ่จัดการได้แล้วจึง ขอให้อยู่ดูแลเส้นเลือดฝอยในหมู่บ้านที่เข้าถึงยากที่ประชาชนลําบาก หากขาดเหลืออะไรให้รีบแจ้งที่ส่วนกลางเพื่อไปสนับสนุน  


สำหรับการปล่อยขบวนกรุงเทพมหานครในวันนี้ เป็นขบวนรถกรุงเทพมหานครช่วยเหลือผู้ประสบภัย จังหวัดเชียงราย เพิ่มเติมจากเมื่อวันที่ 19 ก.ย.67 เนื่องจากการปฏิบัติงานดูดโคลน ในพื้นที่ประสบภัยพบว่า มีตะกอนดินอยู่ในระบบระบายน้ำเป็นจำนวนมาก ทำให้การดูดโคลนไม่เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ จึงได้สนับสนุนเจ้าหน้าที่และยานพาหนะ เข้าเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัย 


ด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  ได้สรุปตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ล่าสุดมี ผู้บาดเจ็บสะสม 1,500 คน  เสียชีวิตสะสม 49 คน สถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบ 79 แห่ง ปิดให้บริการ 2 แห่ง ได้แก่ รพ.สต.แม่ปูนล่าง จ.เชียงราย และศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ (รพ.แม่และเด็ก) ซึ่งมีผู้รับบริการหญิงตั้งครรภ์ทั้งหมด 10 ราย กลับบ้านได้ 7 ราย และลำเลียงย้ายไป รพ.นครพิงค์ 3 ราย ทั้งหมดดำเนินการไปได้ด้วยดี


นายสมศักดิ์ ยังได้สั่งการเจ้าหน้าที่ใน 5 ประเด็น  คือ 1. ให้จังหวัดหรือพื้นที่เสี่ยงติดตามเฝ้าระวัง ประเมินสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาฉุกเฉินและดูแลช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่  2.ดูแลผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ประสบภัย 3.เตรียมความพร้อมสถานพยาบาล ทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์และการส่งต่อผู้ป่วย 4.จังหวัดที่น้ำลด ให้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูหลังน้ำลด ดูแลสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ดูแลสุขภาพจิต และเฝ้าระวังโรคระบาด และ 5.ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาล สำรองยาและเวชภัณฑ์ให้เพียงพออย่างน้อย 3 เดือน พิจารณาตามความเสี่ยงของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ  โดยให้รายงานทรัพยากรคงคลังและอัตราการใช้ทรัพยากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขมายังส่วนกลางทุกสัปดาห์ 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง