TNN สธ.ยกระดับโรค “ฉี่หนู”บนเวทีโลก ชงบรรจุเป็นโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยของ WHO

TNN

สังคม

สธ.ยกระดับโรค “ฉี่หนู”บนเวทีโลก ชงบรรจุเป็นโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยของ WHO

สธ.ยกระดับโรค “ฉี่หนู”บนเวทีโลก  ชงบรรจุเป็นโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยของ WHO

กระทรวงสาธารณสุขไทย เป็นเจ้าภาพจัดประชุมสภาสถาบันวัคซีนนานาชาติ (IVI) "ปลัดโอภาส" ในฐานะประธานสภา IVI คนแรก นั่งหัวโต๊ะประชุมร่วมตัวแทน 12 ประเทศ ยกระดับ "โรคฉี่หนู" ในเวทีโลก ชงบรรจุเข้ารายการโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยของ WHO พร้อมหารือแผนวัคซีนในทวีปแอฟริกา หลังเผชิญปัญหาฝีดาษลิง ไข้เลือดออกระบาดครั้งใหญ่


วันนี้ (23 กันยายน 2567) ที่โรงแรมมณเฑียร สุรวงศ์ กทม. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานสภาของสถาบันวัคซีนนานาชาติ (International Vaccine Institute : IVI) เป็นคนแรก เป็นประธานการประชุมสภาของสถาบันวัคซีนนานาชาติ ประจำปี 2567 (IVI Global Council 2024) ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพในการประชุมระหว่างวันที่ 23-24 กันยายน 2567 โดยมี ดร.เจอโรม คิม (Dr.Jerome Kim) ผู้อำนวยการใหญ่สถาบันวัคซีนนานาชาติ (IVI Director General) นายจอร์จ บิกเกอร์สตาฟฟ์ (Mr.George Bickerstaff) Chairperson of IVI Board of Trustees นายแอนเดอร์ นอร์ดสตรอม (Mr.Anders Nordström) Chairperson of the IVI Global Advisory Group of Experts และผู้แทนจากประเทศสมาชิก IVI 60 คนจาก 12 ประเทศเข้าร่วม

 

นพ.โอภาสกล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบรายงานพิเศษของ IVI เกี่ยวกับแผนการดำเนินการด้านวัคซีนในทวีปแอฟริกาที่เน้นย้ำถึงภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพที่กำลังเกิดขึ้น อาทิ การกลับมาระบาดของโรคฝีดาษลิง การระบาดของโรคไข้เลือดออกครั้งใหญ่ที่สุดในโลก และการขาดแคลนวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรค เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอแนวทางและกลยุทธ์ด้านวัคซีนของประเทศสมาชิก IVI และการบริหารจัดการภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพทั่วโลกที่กำลังเผชิญอยู่ รวมถึงการป้องกันควบคุมการระบาดของโรคฝีดาษวานรและการยกระดับความสำคัญของโรคฉี่หนู (Leptospirosis) ในเวทีระดับโลกที่ครอบคลุมทั้งการป้องกันและการควบคุมโรคฉี่หนู โดยมีแนวคิดผลักดันให้โรคฉี่หนูบรรจุอยู่ในรายการโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยขององค์การอนามัยโลก (WHO List of Neglected Tropical Diseases : WHO NTD List) ด้วย 

 

"ในฐานะที่เป็นประธานคนแรกของสภา IVI ผมมีความมุ่งหวังที่จะเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศและองค์กรต่าง ๆ ให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลสำเร็จ สิ่งสำคัญอันดับแรกคือ ต้องสร้างศักยภาพในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศที่มีทรัพยากรจำกัด จะช่วยให้เกิดการสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงวัคซีนทั่วโลกและการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสาธารณสุขในประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้น การทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ และการสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่งในระดับโลก เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ" นพ.โอภาสกล่าว

 

ทั้งนี้ สถาบันวัคซีนนานาชาติ (IVI) เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1997 ตามข้อริเริ่มของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme : UNDP) โดยมีพันธกิจในการค้นหา พัฒนา และส่งมอบวัคซีนที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และราคาไม่แพง เพื่อเป็นเครื่องมือในการควบคุมป้องกันการระบาดของโรคและช่วยชีวิตมนุษย์ โดย IVI มีผลงานมากมาย ได้แก่ การดำเนินงานวิจัยวัคซีนทางคลินิกและพัฒนาวัคซีนสำหรับโรคติดเชื้อที่ส่งผลกระทบต่อประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง เช่น อหิวาตกโรค ไข้ไทฟอยด์ ไข้ชิคุนกุนยา โรคบิดชิเกลลา โรคติดเชื้อซาลโมเนลลา โรคพยาธิใบไม้ในเลือด โรคตับอักเสบอี โรคติดเชื้อไวรัส HPV โรคโควิด 19 เป็นต้น ทั้งนี้ IVI มีสำนักงานใหญ่ในกรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี รวมถึงมีสำนักงานภูมิภาคยุโรปในสวีเดน สำนักงานภูมิภาคแอฟริกาในรวันดา สำนักงานประจำประเทศออสเตรีย และสำนักงานประจำประเทศเคนยา 

 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง