เช็กอาการเสี่ยงรับพิษเมทานอลผสมในสุราเถื่อน กลุ่มมีประวัติดื่มหากอาการผิดปกติพบแพทย์ด่วน
นอกจากผู้ป่วยได้รับผลกระทบจากเมทานอลในสุราเถื่อนเข้ารับการรักษาพยาบาลมากกว่า 40 คน ยังพบผู้มีประวัติดื่มสุราเถื่อนในพื้นที่ กทม. 18 แห่ง ซึ่งกระทรวงสาธาณสุขขอให้ผู้มีประวัติสังเกตอาการผิดปกติของตัวเองและรีบพบแพทย์เร็วที่สุด
ศูนย์ปฏิบัติการ ณ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี รายงานสถานการณ์ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร หลังดื่มสุราเถื่อน ซุ้มยาดอง ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม จนถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2567 รวม 43 คน มีผู้เสียชีวิต 6 คน สาหัส 6 คน รักษาหายและกลับบ้านได้ 27 คน โดยกรมการแพทย์ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินส่วนหน้า โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนทำให้สามารถควบคุมสถานการณ์ไม่ให้ลุกลามได้ภายใน 1 สัปดาห์ เร่งแก้ปัญหาและรักษาผู้ป่วย ลดการป่วยหนักและเสียชีวิต
ขณะเดียวกันได้มีการสอบสวนโรคจากญาติ ครอบครัวผู้ป่วย การค้นหากลุ่มเสี่ยง และตรวจพิกัดสุราปลอม ซุ้มยาดองอันตรายในพื้นที่เขตมีนบุรี , เขตหนองจอก , เขตลาดกระบัง , เขตประเวศ , เขตคันนายาว , เขตคลองสามวา รวม 18 จุด โดยขอให้ผู้ที่มีประวัติเสี่ยงดื่มสุราปลอมสังเกตอาการของตัวเอง หากพบผิดปกติขอให้พบแพทย์โดยเร็วที่สุด
โดยอาการผิดปกติการได้รับพิษสุราเถื่อนหรือปลอม เกิดจากการดื่มสุราที่มีสาร Methanol (เมทานอล) หรือ Wood alcohol ปนเปื้อน ซึ่งเมทานอลเป็นแอลกอฮอล์ชนิดเชื้อเพลิง ใช้ในงานอุตสาหกรรม และไม่ควรนำมาบริโภค มักพบการปนเปื้อนเมทานอลในสุราปลอมหรือสุราเถื่อนที่ต้มกลั่นเอง ซึ่งเมื่อร่างกายมีการดูดซึมเมทานอลจะถูกส่งไปเผาผลาญที่ตับ ส่งผลต่อระบบประสาท สมอง และระบบในร่างกายล้มเหลวจากภาวะเลือดเป็นกรด
โดยอาการหลังได้รับพิษจากเมทานอลในสุราปลอม
1. ช่วงแรกจะมีอาการมึนเมาทั่วไป
2. มีอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนรุนแรง
3. หายใจเร็ว หอบเหนื่อย จากภาวะเลือดเป็นกรด
4. ตาพร่ามัว มองเห็นผิดปกติทั้ง 2 ข้าง เริ่มจากแสงฝ้าขาวปุยคล้ายหิมะไปจนถึงมืดบอด
5. มีอาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว
6. มีอาการซึม ปลุกไม่ตอบ ไม่ตื่น
7. เสียชีวิตจากภาวะเลือดเป็นกรดรุนแรง และ ระบบต่าง ๆในร่างกายทำงานล้มเหลว
สำหรับการรักษาพยาบาลอาการพิษจากเมทานอล ทำได้เพียงการประคับประคอง และ อาจรักษาโดยใช้เอทานอล ซึ่งไม่ได้เป็นยาต้านพิษโดยตรง เพียงแต่จะชะลอการเกิดพิษของเมทานอล ซึ่งที่ช่วยได้ดีที่สุดคือ การล้างไต ซึ่งแพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กรณีผู้ป่วยที่ล้างไตเฉียบพลัน หากไตไม่สามารถฟื้นฟูกลับมาได้ก็อาจจะต้องล้างไตไปตลอดชีวิต และอาจมีการทำงานของตับล้มเหลวตามมาได้
ทั้งนี้ ผู้ที่มีประวัติเสี่ยงหากมีอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หากอาการไม่ดีขึ้นขอให้ไปสถานพยาบาลใกล้บ้านทันที และหากอาการมากถึงระดับมองเห็นผิดปกติ หอบ เหนื่อย หายใจเร็ว ชัก เกร็ง ให้รีบเดินทางมาห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที หรือ โทร.1669 เพื่อการรักษาที่ทันท่วงที ลดภาวะเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต
ข้อมูล : กระทรวงสาธารณสุข
ภาพ : ทีมกราฟิก TNN
ข่าวแนะนำ