TNN หมอยง เล่าที่มาของชื่อ "ฝีดาษลิง" อนามัยโลกชี้ไม่ระบาดรุนแรงเท่าโควิด

TNN

สังคม

หมอยง เล่าที่มาของชื่อ "ฝีดาษลิง" อนามัยโลกชี้ไม่ระบาดรุนแรงเท่าโควิด

หมอยง เล่าที่มาของชื่อ ฝีดาษลิง อนามัยโลกชี้ไม่ระบาดรุนแรงเท่าโควิด

หมอยง เล่าที่มาของชื่อ "ฝีดาษลิง หรือ ฝีดาษวานร" ขณะที่ อนามัยโลกชี้ไม่ระบาดรุนแรงเท่าโควิด-19

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Yong Poovorawan เกี่ยวกับ ฝีดาษลิง


โดยระบุว่า  ฝีดาษวานรหรือ Mpox พบและรายงานครั้งแรก เป็นการระบาดในลิงที่เลี้ยงไว้ทดลอง ลิงมีอาการและแยกเชื้อได้ในกลุ่มของฝีดาษ (poxvirus) จึงเรียกว่าฝีดาษลิง (Monkeypox) เมื่อกว่า 60 ปีที่แล้ว 


จนกระทั่งอีก 10 กว่าปีต่อมา พบโรคนี้ในมนุษย์ที่คองโก ไม่ทราบแน่ชัดว่าติดมาจากสัตว์ใด และก็พบเรื่อยมาต่อมาจึงเข้าใจว่าสัตว์นำโรค น่าจะเป็นสัตว์ตระกูลฟันแทะหรือหนู และสามารถติดต่อระหว่างคนสู่คนได้


การตั้งชื่อ ฝีดาษลิงหรือฝีดาษวานร ก็เพราะพบครั้งแรกในลิง แต่ความเป็นจริงการติดต่อสู่คน ไม่ทราบว่าเป็นสัตว์ชนิดใด น่าจะเป็นสัตว์ในตระกูลฟันแทะ ในระยะหลังนี้องค์การอนามัยโลกเองจะตั้งชื่อโรคที่เกิดจากไวรัส หรือโรคอุบัติใหม่ จะไม่ใช้ชื่อสถานที่ สัตว์นำโรค บุคคล มาตั้งเป็นชื่อโรค เพราะจะทำให้เกิดบาดแผลต่อสิ่งนั้น หรือแนวคิดทัศนคติทางลบต่อสิ่งนั้นๆ องค์การอนามัยโลกจึงตั้งชื่อว่า “Mpox” 


สำหรับประเทศไทย ผู้ที่ตั้งชื่อว่าฝีดาษวานร คือศาสตราจารย์นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ



ขณะที่นายแพทย์ฮานส์ คลูก ผู้อำนวยการภาคพื้นยุโรปขององค์การอนามัยโลก ( WHO )กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดครั้งใหม่ของโรคฝีดาษลิง หรือ เอ็มพ็อกซ์ ซึ่งดับเบิลยูเอชโอประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นการประกาศซ้ำในรอบ 2 ปี ต่อจากระหว่างปี 2565-2566  ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใหม่หรือเก่า ฝีดาษลิงไม่ได้รุนแรงเหมือนกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งประชาคมโลกมีความเข้าใจขั้นพื้นฐานต่อโรคดังกล่าว และเรียนรู้ รวมถึงถอดบทเรียนจากการแพร่ระบาดครั้งก่อนแล้วว่า จะเฝ้าระวัง และป้องกันอย่างไร พร้อมทั้งยืนยันว่า ความเสี่ยงที่โรคฝีดาษลิงจะแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง “ยังอยู่ในระดับต่ำ”


อย่างไรก็ตามเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคยุโรป ( อีซีดีซี ) ยกระดับเตือนภัย ความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงในภูมิภาค จาก “ต่ำ” เป็น “ปานกลาง” โดยยืนยันว่า แนวโน้มการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคฝีดาษลิงในทวีปยุโรป “ยังอยู่ในระดับต่ำ” แต่ทุกฝ่ายควรมีมาตรการคัดกรอง และควบคุมโรคที่เข้มงวดมากขึ้น เนื่องจากเริ่มมีการแพร่ระบาด ข้ามพรมแดนออกจากทวีปแอฟริกา


ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงเกิดจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่ 1 หรือเคลดวัน มีความรุนแรงระดับสูงสุดในบรรดาทุกสายพันธุ์ และมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง ร้อยละ 10 แต่มีอัตราการกลายพันธุ์ต่ำ และกลุ่มเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่ 2 หรือเคลด 2 แม้มีความรุนแรงของโรคต่ำกว่าเคลดวัน แต่มีอัตราการกลายพันธุ์ต่ำถึงปานกลาง


การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยองค์การอนามัยโลกในครั้งนี้ เกี่ยวข้องกับกลุ่มเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ “เคลดวันบี” ซึ่งกลายพันธุ์มาจากกลุ่มสายพันธุ์ที่ 1  และมีความรุนแรงมากกว่า และมีรายงานว่า พบผู้ป่วยฝีดาษลิงสายพันธุ์ เคลดทูรายใหม่ประมาณ 100 คนในยุโรปเป็นประจำทุกเดือน 


ข่าวแนะนำ