TNN ปี 2567 พบเสือโคร่งในป่าไทยกว่า 200 ตัว ได้รับยกย่องเป็น Champion ด้านอนุรักษ์ฯ

TNN

สังคม

ปี 2567 พบเสือโคร่งในป่าไทยกว่า 200 ตัว ได้รับยกย่องเป็น Champion ด้านอนุรักษ์ฯ

ปี 2567 พบเสือโคร่งในป่าไทยกว่า 200 ตัว ได้รับยกย่องเป็น Champion ด้านอนุรักษ์ฯ

นายกฯ ยินดีไทยได้รับยกย่องเป็น “Champion ด้านการอนุรักษ์เสือโคร่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ปี 2567 พบจำนวนเสือโคร่งในป่าไทยกว่า 200 ตัว ยกไทยเป็นโมเดลประเทศถิ่นอาศัยเสือโคร่ง

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ส่งเสริมการอนุรักษ์และการเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งไทย ในฐานะที่ไทยเป็น 1 ใน 13 ประเทศที่มีถิ่นอาศัยของเสือโคร่งในป่าธรรมชาติ และด้วยเสือโคร่งเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ซึ่งรัฐบาล โดย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย มุ่งขับเคลื่อนนโยบายการดำเนินงานเพื่อฟื้นฟูจำนวนประชากรเสือโคร่งตามแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565-2577) มาอย่างต่อเนื่อง 


สะท้อนเป็นผลสำเร็จให้ปี 2567 นี้ ไทยได้รับการยกย่องเป็น Champion ด้านการอนุรักษ์เสือโคร่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมตั้งเป้าหมายผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำในการอนุรักษ์เสือโคร่งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในปี พ.ศ. 2577


โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เปิดเผยผลการประชุมใน“วันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก” (29 กรกฎาคม 2567) ถึงการประชุมการเงินที่ยั่งยืนเพื่อการอนุรักษ์ภูมิทัศน์เสือโคร่ง (Sustainable Finance for Tiger Landscapes Conference: SFTLC) ณ เมืองพาโร ราชอาณาจักรภูฏาน รายงานถึงความสำเร็จของไทยในการเพิ่มประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติ ควบคู่กับการเพิ่มศักยภาพถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่ง 


โดยรัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรเพื่อการอนุรักษ์มาอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับบูรณาการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและองค์กรพันธมิตรระหว่างประเทศ ส่งผลให้ในปี 2567 ไทยมีประชากรเสือโคร่งตัวเต็มวัยอยู่ประมาณ 179 – 223 ตัว เพิ่มขึ้นจากในปี 2565 ที่สำรวจพบ 148 – 149 ตัว เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในกลุ่มป่าตะวันตก ซึ่งผู้ร่วมการประชุมชื่นชมประเทศไทยและยกย่องให้เป็น “แชมป์เปี้ยนของการอนุรักษ์เสือโคร่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” พร้อมเห็นว่าสามารถนำไทยมาเป็นโมเดลตัวอย่างสำหรับการดำเนินงานของประเทศถิ่นอาศัยเสือโคร่งประเทศอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี


นอกจากนี้ รัฐบาลตั้งเป้าผลักดันไทยเป็นผู้นำในการอนุรักษ์เสือโคร่งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในปี พ.ศ. 2577 สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ภายใต้แผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565-2577) กำหนดเป้าหมายหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1) รักษาและยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองพื้นที่ในกลุ่มป่าตะวันตก 2) เสริมสร้างความเข้มแข็งในการจัดการพื้นที่ คุ้มครองป้องกันพื้นที่และเพิ่มศักยภาพของระบบการติดตามตรวจวัดประชากรในกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และ 3) เพิ่มประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว และกลุ่มป่าคลองแสง-เขาสก


ทั้งนี้ เสือโคร่ง (Royal Tiger) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Panthera tigris เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่กินเนื้อเป็นอาหาร รักสันโดษ มักออกล่าเหยื่อตอนกลางคืน และถือเป็นผู้ควบคุมจำนวนประชากรสัตว์กินพืชในผืนป่าไม่ให้มีจำนวนมาก ซึ่งสามารถเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าได้เป็นอย่างดี โดยในปี พ.ศ. 2553 มีการประชุมด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง (Tiger Summit) ณ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สหพันธรัฐรัสเซีย และได้กำหนดให้วันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เป็น “วันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก” (Global Tiger Day) เพื่อให้ทั่วโลกคำนึงถึงการปกป้องที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของเสือโคร่ง การอนุรักษ์ประชากรเสือโคร่งและสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชน


“จำนวนที่เพิ่มขึ้นของเสือโคร่งในไทย นับว่าเป็นสัญญาณดีต่อความสมบูรณ์ของระบบนิเวศของประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีชื่นชมการทำงานของทุกภาคส่วน ที่สะท้อนความสำเร็จและการยอมรับจากนานาประเทศ โดยรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมสนับสนุนการบูรณาการทำงานกับทุกภาคส่วนเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งอย่างต่อเนื่อง พร้อมเชื่อมั่นว่า ไทยจะก้าวสู่ความสำเร็จตามแผนฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเป็นผู้นำและเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์เสือโคร่งในระดับภูมิภาคได้อย่างแข็งแกร่ง” นายชัย กล่าว

ข่าวแนะนำ